ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
กระดูกซี่โครงเป็นอวัยวะ ที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างที่ค่อยปกป้องอวัยวะสำคัญ เช่น ปอดและหัวใจ เพื่อไม่ให้ใครมากระทบได้ อย่างไรก็ตามในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อมีการกระแทกจากอุบัติเหตุในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการหักของซี่โครงและอาจส่งผลกระทบกับอวัยวะภายใน เช่น ซี่โครงหักทิ่มปอดรั่วหรือเลือดออกมากที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาลกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 9 แสนครั้งต่อปีและมีผู้เสียชีวิตจากท้องถนนมากกว่า 14,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการล้มด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นกลไกที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งจากงานวิจัยเรื่องอุบัติเหตุพบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีการเกิดอุบัติเหตุนั้นจะพบซี่โครงหักร่วมด้วย โดยกระดูกซี่โครงหักแบบธรรมดาเป็นอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปีมีผู้สูงอายุจำนวนมากได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการบาดเจ็บจากการหกล้มจนกระดูกซี่โครงหักก็มีจำนวนมากขึ้น
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การรักษามักจะทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บปวดและหายใจลำบากเป็นเวลานาน หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ในระหว่างการพักฟื้น การฟื้นตัวจากกระดูกซี่โครงหักอาจใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายประสบปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการบาดเจ็บด้วย การรักษาที่ดีที่สุดคือการประคับ ประคองเพราะเชื่อว่ากระดูกซี่โครงจะสมานเองได้โดยใช้ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ โดยผลข้างเคียงอาจจะมีอาการปวดเรื้อรัง หรือเจ็บบริเวณปลายประสาทอักเสบหรือคลำได้ก้อนกระดูกบริเวณข้างลำตัว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีพัฒนาวิธีการซ่อมแซมกระดูกซี่โครงหักโดยการตรึงกระดูกซี่โครงแบบแผลเล็ก โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามารักษากระดูกซี่โครงหักได้โดยการผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อเชื่อมต่อส่งผลทำให้กระดูกซี่โครงที่หัก ให้กลับมาสมานเหมือนดังเดิมและรวดเร็วมากขึ้น ด้วยวิธีสมัยใหม่นี้สามารถทำให้ผู้ป่วยลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลน้อยลงและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคปอด โดยข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดชนิดนี้ คือ ทำการรักษาในผู้ป่วยที่ซี่โครงหักที่ผิดรูปอย่างรุนแรงและต้องใช้เครื่องช่วยหัวใจ (Unable to wean respirator)หรือผู้ป่วยที่ซี่โครงหักมากกว่า 3 ซี่และปวดอย่างรุนแรง (Severe displacement) หรือซี่โครงหักสองท่อน (Flail chest) สามารถนำเหล็กที่ใส่โดยไม่ต้องเอาออก แค่นี้ผู้ป่วยก็จะสามารถไปใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว
ดังนั้นกระดูกซี่โครงหัก อย่างรุนแรงสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด โดยใช้สกรูและแผ่นยึดเหมือนการผ่าตัดกระดูกในส่วนอื่น ๆ ได้ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนถึงขั้นกระดูกซี่โครงหักที่กำลังตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่เพจผ่าตัดปอดโดยนายแพทย์ศิระหรือ Lineid:@lungsurgeryth