‘รพ.สวรรค์ประชารักษ์’ จัด ‘โครงการจัดฟันสัญจร’ ลุยดูแล ‘ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่’ สิทธิบัตรทอง แบบครบวงจร

www.medi.co.th

“โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์” จ.นครสวรรค์ ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ครบวงจร ภายใต้โครงการจัดฟันสัญจรในระบบบัตรทอง ร่วมกับสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ครอบคลุมเย็บติดริมฝีปาก หรือเพดาน-ทำเพดานเทียม-จัดฟัน-ฝึกพูด ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย 

ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ  ผอ.สปสช.เขต3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่รับฟังและเยี่ยมชม โครงการจัดฟันสัญจรซึ่งเป็นโครงการของสมาคมจัดฟัน ร่วมมือ กับ มูลนิธิจัดฟันแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ สปสช. เพื่อรักษา ปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ตั้งแต่แรกเกิด จนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา โดยมี รศ. (พิเศษ) ดร. ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ ประธานสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย และ นพ.วิพัฒน์ อุดมพงศ์ลักขณา นพ.ชำนาญการพิเศษ และรองผู้อำนวยการ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ ทพญ.ปาลิดา ชำนาญหมอ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ  หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ. สวรรค์ประชารักษ์ ต้อนรับ ณ รพ. สวรรค์ประชารักษ์ เขาเขียว จ.นครสวรรค์      


 


รศ. (พิเศษ) ทพญ.สมใจ เปิดเผยว่า โครงการจัดฟันสัญจรดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 13 โดยก่อนหน้าสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากสภากาชาดไทย และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ร่วมกันในโครงการ “ยิ้มสวยเสียงใส” ออกตรวจผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วประเทศ ซึ่งก็พบว่าผู้ป่วยบางส่วนยังไม่ได้รับการรักษาเท่าที่ควร


        อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่นั้นไม่สามารถใช้แค่ทันตแพทย์เพียงวิชาชีพเดียวได้ เพราะเป็นการรักษาแบบองค์รวม การจัดฟัน การเย็บริมฝีปาก หรือเพดานปาก ฯลฯ จึงได้มีการรวบรวมแพทย์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมด้วยทั้งทันตแพทย์จัดฟัน แพทย์เด็ก แพทย์หู คอ จมูก แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง รวมถึงบุคลากรช่วยฝึกสอนการสื่อสาร การพูด เป็นอาทิ และได้มีการพูดคุยกับ สปสช. ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคม เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศได้

“โครงการนี้จะออกสัญจรทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้งกระจายไปในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สามารถดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เช่น โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รวมไปถึงยังมีผู้ป่วยที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างคือโครงการจัดฟันสัญจร มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ดำเนินการ” รศ. (พิเศษ) ทพญ.สมใจ ระบุ


        นพ.วิพัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ให้บริการตั้งแต่การอัลตราซาวนด์ โดยแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารก เพื่อดูความผิดปกติ หากหลังคลอดพบว่าเด็กมีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ก็จะทำการรักษา ทั้งการทำแผ่นเพดานเทียมเพื่อช่วยให้เด็กสามารถดูดนมแม่ได้ รวมถึงการเย็บติดริมฝีปาก และจัดฟันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม


        นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีแผนกพัฒนาการ เพื่อให้เด็กที่ได้รับการแก้ไขแล้วสามารถพูด หรือสื่อสารได้ชัดขึ้น โดยโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้รับการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานมาแล้ว 8 ปี มีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแล้ว จำนวน 166 ราย ทั้งผู้ป่วยในจังหวัด และผู้ป่วยจากจังหวัดข้างเคียง


        “เรามีครบวงจรตั้งแต่หมอสูตินรี หมอเด็ก ทันตแพทย์ ทันตแพทย์เด็ก ศัลยแพทย์ รวมถึงนักพัฒนาทักษะการพูด และมีทีมที่จะส่งต่อกันเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ครบวงจร” นพ.วิพัฒน์ ระบุ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สิทธิบัตรทองจาก สปสช. นั้นเป็นแบบองค์รวม ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การใส่เพดานเทียมเพื่อให้เด็กไม่สำลักเวลาได้รับนมแม่ จากนั้นเมื่ออายุได้ถึงระดับหนึ่งก็จะมีการทำศัลยกรรมเย็บปาก หรือเพดานให้ติดกัน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะดูแลตั้งแต่ส่งเสริมป้องกันโรค รักษา และฟื้นฟู


        สำหรับเด็กที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่นั้น ฟันจะเรียงตัวกันได้ไม่ดี ทำให้มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร หรือการออกเสียงคำพูด รวมไปถึงรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งการจัดฟันสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่นั้นมีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ช่วยเรื่องการบดเคี้ยว 2. ช่วยเรื่องการออกเสียงคำพูด และ 3. ช่วยเรื่องรูปลักษณ์ ฉะนั้นผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สามารถติดต่อขอรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน


        “ค่าใช้จ่ายนั้นจะเป็นแบบเหมาจ่ายรายเคส สำหรับการดูแลทั้งหมด รวมถึงบางรายการที่เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็น เช่น เครื่องมือสำหรับการถ่างขากรรไกรในกรณีที่ผู้ป่วยมีขากรรไกรบนเติบโตน้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาหากจะวางแผนมีบุตรก็สามารถขอรับกรดโฟลิกที่สามารถช่วยป้องกันได้ เพราะตรงนี้ก็อยู่ในสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ทพ.อรรถพร ระบุ

ด้าน น.ส.อภิญญา บุญน่วม อายุ 19 ปี จ.กำแพงเพชร ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาจากโครงการฯ กล่าวว่า ได้รับการผ่าตัดเย็บติดริมฝีปากตั้งแต่แรกเกิด และได้รับการจัดฟันตั้งแต่อายุ 12 ปี ตั้งแต่เข้าโครงการฯ ครั้งแรก ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ กล้ายิ้มมากขึ้นมากกว่าก่อนจัดฟัน รวมถึงรู้สึกว่าเมื่อได้รับการจัดฟันแล้วสามารถออกเสียงพูดได้ชัดขึ้น ส่วนตัวดีใจและตื่นเต้นที่ได้เข้าร่วมการรักษา อย่างไรดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผ่าตัดขากรรไกร เนื่องจากแพทย์เห็นว่าฟันบนและล่างยังไม่สบกัน


        อนึ่ง ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ให้บริการกรณีปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบบัตรทอง 5 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 2. โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร 3. โรงพยาบาลอุทัยธานี 4. โรงพยาบาลกำแพงเพชร และ 5. โรงพยาบาลพิจิตร