“คติชนวิทยา” ไม่ได้เป็นเพียงการศึกษา “รากเหง้า” เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแต่ละท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ ซึ่งนำไปสู่ “การสืบสานอนุรักษ์” แต่เป็นการ “เปิดประตู” สู่การทำให้การสืบสานอนุรักษ์เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนรายวิชา “คติชนวิทยา” (Folklore) ที่กำลังขยายผลสู่การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป “พุทธมณฑลศึกษา” สู่ชุมชน โดยไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ได้เรียนรู้ “รากเหง้า” ของ “พุทธมณฑล” อันเป็นอำเภอที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
“การอบรม “พุทธมณฑลศึกษา” เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของพุทธมณฑล ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีสู่ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล กล่าว
ซึ่ง “คติชนวิทยา” สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยจะทำให้ผู้เรียนได้ค้นพบ “คุณค่าแห่งวิถีชีวิต” ของผู้คนในอดีตมาประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิต ทั้งในโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต ด้วยความเข้าใจอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไข ได้รู้จัก และเข้าใจตัวเอง ก่อนไปทำความเข้าใจผู้อื่น
ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ได้ต่อยอดแนวคิด “คติชนวิทยา” เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และพัฒนาสังคมมาแล้วมากมาย รวมถึงการทำงานจิตอาสาลงพื้นที่พัฒนาชุมชน โดยใช้ “ความงามทางวัฒนธรรม” เป็นพื้นฐานเพื่อการสร้างความเข้าใจอันดี ตลอดจนขยายผลสู่การสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนให้เกิดการพึ่งพาตัวเองต่อไปอย่างยั่งยืน
อาทิ การใช้ความรู้คติชนวิทยามาพัฒนาเป็น “ลายผ้า” อันเป็นอัตลักษณ์ของอำเภอพุทธมณฑล ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาชุมชนในการทำ “Story telling” บอกเล่าเรื่องราวโดยใช้ทักษะทางการใช้ภาษา วรรณกรรม และคติชนวิทยา มาสอดประสานกันเพื่อการสร้างความเข้าใจ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนพัฒนาสื่อต่างๆ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนด้อยโอกาสในสังคมได้ต่อไปอีกด้วย
จากผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาส่งผลให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล เข้ารับพระราชทานรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 สาขามนุษยศาสตร์ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
โดยนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” จากที่ได้เป็นอาจารย์ท่านแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขามนุษยศาสตร์ ที่เข้ารับพระราชทานรางวัลดังกล่าว นับตั้งแต่ ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้ยกระดับการมอบรางวัลสู่พิธีพระราชทาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังแด่ “ครูผู้อุทิศ” จากทั่วประเทศ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210