โรงพยาบาลบางปะอิน เปิดข้อมูลหลังยกระดับการให้บริการ ‘ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า’ มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ผอ.รพ. ระบุ พร้อมเป็น ‘แม่ข่ายรับส่งต่อ’ ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมจากพื้นที่ใกล้เคียง-กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ช่วย ‘สิทธิบัตรทอง’ เข้าถึงการรักษากว่า 200 ราย ลดเวลารอคอยการรักษาจาก 1-2 ปี เหลือ 4-6 เดือน ขณะที่เลขาธิการสปสช.ชี้เป็นโมเดลช่วยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้มาก
วันที่ 2 มกราคม 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมนวัตกรรม“โมเดลโรงพยาบาลบางปะอิน ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใกล้บ้านใกล้ใจครบวงจร” โดยมี นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอภิรักษ์ วัฒนวิกกิจ สสอ.บางปะอิน นายแพทย์ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน นพ.จตุรงค์ บำรุงเชาว์เกษม แพทย์ออร์โธปิดิกส์ บรรยายสรุปภาพรวม “โมเดลโรงพยาบาลบางปะอิน ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใกล้บ้านใกล้ใจครบวงจร”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า โรคข้อนับเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าผู้ชาย ทั้งมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ โรคนี้สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างยิ่ง และส่งผลต่อการเดิน การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยการรักษานอกจากการทำกายภาพบำบัด กินยาแก้ปวด เพื่อลดการอักเสบของข้อในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นแล้ว ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะมีวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่เป็นการรักษาที่มีประสิทธิผล แต่ด้วยค่ารักษาที่สูงมากถึงหลักแสนบาท ทำให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่เข้าถึงการรักษาด้วยวิธีนี้ ด้วย สปสช. เข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม และเพื่อให้เข้าถึงบริการ จึงได้บรรจุการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30) บาท โดยครอบคลุมทั้งค่าบริการผ่าตัดและการเบิกจ่ายอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วย
นพ.จเด็จกล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 -2566 มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมทั้งกรณี ผ่าตัด 1 ข้าง และ 2 ข้าง รวมจำนวน 82,289 ครั้ง โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 รับการผ่าตัดจำนวน 11, 067 ครั้ง และในปี 2561-2565 มีจำนวนการผ่าตัดจำนวน 10,499 ครั้ง 11,732 ครั้ง 10,910 ครั้ง 7,961 ครั้ง 12,385 ครั้ง โดยปี 2564 มีจำนวนการผ่าตัดลดลงเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดมากที่สุด 17,735 ครั้ง ส่วนงบประมาณการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมในช่วง 7 ปี รวมเป็นจำนวนกว่า 6,627 ล้านบาท
นพ.ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า หลังจากที่โรงพยาบาลบางปะอินได้เปิดให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรก รวมถึงเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีศักยภาพในการให้การรักษาโรคดังกล่าว ได้ช่วยให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ใน อ.บางปะอิน เข้าถึงบริการได้มากขึ้น โดยสามารถลดระยะเวลารอคอยเพื่อเข้ารับการรักษา ที่จากเดิมต้องรอนัดหมายผ่าตัดนานถึง 1-2 ปี เพราะมีรพ.รัฐเพียงแห่งเดียวที่ทำได้ แต่ปัจจุบันระยะเวลาการรอคอยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 4-6 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลบางปะอินยังได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย (Node) ให้กับโรงพยาบาลบางไทร และโรงพยาบาลวังน้อย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ข้างเคียง ในการรับส่งต่อเพื่อให้การรักษาโรคข้อเข่า
เสื่อมอีกด้วย รวมถึงต่อยอดในการรับส่งต่อกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยด่วน ซึ่งช่วยให้ลดความแออัดและแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลจังหวัดที่ปกติแล้วต้องรับหน้าที่ดังกล่าว
ผอ.รพ.บางปะอินกล่าวต่อว่า ข้อมูลโดยเฉลี่ยตั้งแต่เปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลได้ให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไปแล้วกว่า 247 ราย โดยในปี 2566 ให้บริการไปแล้วจำนวน 151ราย ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดประมาณ 60-70% เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งผ่าข้อเข่าเฉพาะสิทธิบัตรทองไปแล้ว 257 ข้อเข่า ซึ่งต้องบอกว่างบประมาณที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรมาเพื่อสนับสนุนการให้บริการนี้เพียงพอที่จะบริหารจัดการ “ถ้าเป็นคนไข้บัตรทองไม่ว่าจะเป็นจากใน อ.บางประอิน หรือพื้นที่อื่นๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด ที่ประสงค์จะมารับบริการ ซึ่งมีอาการที่เข้าเกณฑ์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม รวมทั้งทางทีมแพทย์ของเราพร้อมให้บริการ ก็สามารถมาเข้ารับการนัดหมายเพื่อรับการรักษาได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะนโยบายและหลักเกณฑ์ของ สปสช. ครอบคลุมไว้หมดแล้ว” นพ.ฐาปกรณ์ ระบุ
“ในปี 2567 นี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ได้ทั้งหมด 200 ราย ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 15% ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในเขตสุขภาพที่ 4 รวมถึงในอนาคตอันใกล้อยู่ระหว่างดำเนินการขยายห้องผ่าตัด และจัดหาบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถให้บริการได้มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยจากในพื้นที่ ที่มีการประสานงานส่งต่อเพิ่มขึ้นจากการคัดกรองของคลินิกผู้สูงอายุ และจากพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังคงจุดเน้นเรื่องการรักษาที่มีมาตรฐานไม่ต่างจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และระยะในการรอคอยเพื่อรับการรักษาที่เร็วกว่าหลายแห่ง มั่นใจได้ว่าการผ่าตัดรักษา รวมถึงเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษามีคุณภาพแน่นอน เพราะการจะให้บริการได้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับทาง สปสช. ซึ่งมีการประสานงานกับราชวิทยาลัยศัลยกรรมกระดูกและข้อ ที่จะเป็นผู้ประเมินในด้านต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู การดูแลผู้ป่วยในห้องผ่าตัด โดยเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลจังหวัด” นพ.ฐาปกรณ์ กล่าว
ด้าน นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี เผยว่า สถานการณ์การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ ในเขต 4 ตั้งแต่ปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปี 2562-2566 การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee arthroplasty:TKA) การผ่าตัดส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ส่วนการกระจายตัวของหน่วยบริการที่มีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด จำนวน 20 แห่ง ซึ่งจ.พระนครศรีอยุธยาและจ.ลพบุรีมีหน่วยบริการเปิดให้บริการมากที่สุด 4 แห่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสปสช.เขต 4 สระบุรี พบว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองพบว่า ปีงบประมาณ 2562-2566 มีปริมาณการผ่าตัดลดลงในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 จากผลกระทบของการระบาดของ Covid-19 และมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 จากผู้ป่วยที่มีการรอคอยการผ่าตัดสะสม อีกทั้ง ปีงบประมาณ 2565-2566 มีการเพิ่มศักยภาพการผ่าตัด ในระดับ รพช. จำนวน 2 แห่ง คือ รพช.บางปะอิน และ รพช.บางบัวทอง มีปริมาณการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ ปีงบประมาณ 2562-2566 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 97.37 และพบว่าในปี 2562 มีการผ่าตัดในผู้มีอายุสูงสุดที่ 92 ปี ขณะที่การผ่าตัดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 55 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.63 โดยมีอายุต่ำสุด 21 ปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 สปสช.จ่ายเงินชดเชยอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมทั้งข้อแก่หน่วยบริการ ยอดการจ่าย 5 ปี เป็นเงิน 302 ล้านบาท สำหรับปี 2566 เป็นเงิน 84.9 ล้านบาท
ป้าสาคร บุญยงค์ อายุ 62 ปี ชาวจ.นครสวรรค์ ผู้ป่วยบัตรทอง ที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่า 2 ข้าง เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำสวน ทำไร่ เมื่อ3 ปีที่ผ่านมารู้สึกปวดเข่ามากเดินก็เจ็บ แต่ละครั้งที่เดินเข่าก็เริ่มแบะออกด้านข้างที่ละนิดๆจนเริ่มผิดรูปทนไมไหว
ป้าสาคร บอกว่า ช่วงแรกรักษาที่จ.นครสวรรค์ ซึ่งหมอบอกว่าถ้าจะผ่าตัดต้องรอนานเป็นปีๆ และเมื่อปีที่แล้วลูกสะใภ้รู้ว่าที่รพ.บางปะอินมีรักษาเหมือนกันและทำเรื่องย้ายสิทธิ์มา จนได้มารักษาและได้ผ่าตัดข้อเข่าทั้ง2ข้าง ไม่ต้องรอคิวนาน ขาแรกที่ผ่านไป เมื่อ3เดือนที่ผ่านมา แผลเริ่มหาย หมอก็นัดให้มาผ่าข้างที่2 เมื่อวันที่21ธค.66
“วันนี้หมอนัดติดตามอาการและต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การเดินได้ปกติ เรียกว่าดีมากเลย แพทย์พยาบาลก็ดูแลดี ทำให้คนแก่ไม่ต้องรอนาน และแถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย มีก็นิดหน่อย ส่วนใหญ่เป็นค่าเดินทาง ขอบคุณสปสช.และรัฐบาลที่ช่วยคนยากไร้ คนแก่ไม่ต้องรอนาน” ป้าสาคนเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจ
2 มกราคม 2567