15 ม.ค. นี้ ‘สิทธิบัตรทอง’ อยู่ ‘ต่างประเทศ’ เจ็บป่วย พบแพทย์ทางไกลได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย!

วันที่ 4 ม.ค. 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดแนวทางการจัดระบบบริการเพื่อดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในต่างประเทศผ่านระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยเป็นแนวทางการดูแลคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อาศัยในต่างประเทศ หรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ ให้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถใช้บริการด้วยสมาร์ทโฟนเพื่อพบแพทย์ทางไกลได้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567


ทั้งนี้ ประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ต่างประเทศและต้องการใช้บริการการแพทย์ทางไกลต้องใช้บริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเป็นหน่วยบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ได้แก่ แอปฯ Saluber, MD Clicknic, Mordee และแอปฯ Totale Telemed ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่เว็บไซต์ สปสช., ไลน์ OA สปสช. @nhso และแอปพลิเคชัน สปสช. โดยใช้หนังสือเดินทาง หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการยืนยันตัวตนการใช้สิทธิในการขอรับบริการ


โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า การให้บริการพบแพทย์ทางไกล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการภายใต้แนวคิด การให้บริการผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด พร้อมทั้งมุ่งขยายการให้บริการให้ครอบคลุมคนไทยในต่างประเทศเพื่อช่วยลดอุปสรรคให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทในต่างประเทศที่เผชิญกับปัญหาทางด้านภาษาและการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย และต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ
อีกทั้งยังสอดรับกับมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงคนไทยผู้อาศัยอยู่ในต่างประเทศหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย
"บุคลากรทางการแพทย์ไทยจะให้บริการ Telemedicine ในกรณีที่ผู้มีบัตรทอง 30 บาทมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness) เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านสุขภาพ และคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้น" นายชัย กล่าว


นายชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง มีมุมมองความคิดที่ต้องการดูแลด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน พร้อมกับการขับเคลื่อนระบบการให้บริการดิจิทัลสุขภาพ (Digital Health) โดยถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น ในการสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไร้ข้อจำกัดของเวลาและพื้นที่