กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยสุขภาพอนามัยประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ แนะประชาชนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม หลังน้ำลด เร่งทำความสะอาดบ้าน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย ด้วยการรื้อและล้างให้สะอาด ปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพื่อสุขอนามัยที่ดี ลดเสี่ยงโรค
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในจังหวัด สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบเกิดภาวะเจ็บป่วยและบางรายเสียชีวิต ซึ่งกรมอนามัย ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ร่วมประเมินและเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ระดับน้ำลดลง แต่พบความเสียหายต่ออาคาร บ้านเรือน สถานประกอบการร้านอาหาร ตลาด โรงเรียน รวมทั้งสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ จึงสั่งการทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และแนะนำประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดูแลสถานที่ต่าง ๆ ให้ทำความสะอาด ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย ด้วยการรื้อและล้างให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล ป้องกันแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรคก่อนนำประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กกลับเข้าบ้านเรือน หรือเปิดให้บริการอย่างปลอดภัย รวมทั้ง สนับสนุนการปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐานสำหรับประชาชน
ด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนเข้าไปใช้อาคารหรือบ้านเรือนเพื่อทำความสะอาดหลังน้ำลด ต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย และมั่นใจว่าโครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง ระวังสัตว์มีพิษที่หลบตามซากอาคาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ในอาคาร เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง และเมื่อเข้าไปแล้วให้เปิดประตู หน้าต่างถ่ายเทอากาศ ลดกลิ่นเหม็นอับ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านป้องกันไม่ให้เชื้อราหรือเชื้อโรคฟุ้งกระจายในอากาศ จากนั้นจึงทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดในอาคารบ้านเรือน สำหรับเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ที่ชำรุดเสียหายซ่อมแซมไม่ได้ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำเด็ดขาด อาจเกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ โดยให้นำไปทิ้งไว้ในพื้นที่ที่ส่วนราชการกำหนดเพื่อนำไปกำจัด ส่วนในครัวเรือนที่มีฟูกที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม ให้ซักทำความสะอาดแล้วผึ่งแดดให้แห้ง วอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา สำหรับสถานประกอบกิจการร้านอาหาร ตลาดที่เป็นสถานที่ให้บริการประชาชน ต้องคำนึงถึง ความสะอาดเป็นสำคัญ โดยให้ล้างทำความสะอาดอาคาร พื้น ผนัง วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาล้างทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนเปิดให้บริการประชาชนเพื่อป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ โดยก่อนการทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรา ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง
“ทั้งนี้ วิธีกำจัดเชื้อราสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) ใช้กระดาษทิชชู หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวที่มีเชื้อราไปในทางเดียวจากนั้นทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2) เช็ดซ้ำด้วยน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง และ 3) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 – 90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเป็นขั้นตอนสุดท้าย และหลังจากการล้างบ้านและกำจัดเชื้อรา ให้อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยดี” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กรมอนามัย / 4 มกราคม 2567