ม.มหิดลต่อยอดเครือข่ายวิจัยสังคมศาสตร์‘SSHA'เพื่อทุกความหมายของจังหวะชีวิต

www.medi.co.th

ในขณะที่ ”วิทย์“ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราเกิดมาได้อย่างไร แต่ ”สังคม“ จะทำให้ทุกจังหวะของชีวิตมีความหมาย และอยู่ดีมีสุข


ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มนโยบายการสร้างเครือข่าย “SSHA" เพื่อรวบรวมศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ (Social Sciences) มนุษยศาสตร์ (Humanities) และศิลปะ (Arts) โดยรวมพลัง 14 ส่วนงาน และ 3 วิทยาเขต พลิกโฉมการวิจัยของประเทศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม


มาบัดนี้ ได้ขยายความร่วมมือสู่ระดับโลก โดยได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ที่จะเดินทางมาร่วมลงนามความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมทางประวัติศาสตร์การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกัน


แม้ไทยและฮ่องกงจะอยู่ในทวีปเอเชียเช่นเดียวกัน แต่มีมิติทางสังคมที่แตกต่างกันหลายด้านที่ควรค่าแก่การร่วมมือกันเพื่อศึกษาและพัฒนา โดยในความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในเรื่องการวิจัยและการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และบุคลากร


ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่โลกจะได้รู้จักมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่ไม่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ที่มากด้วยคุณภาพ ด้วยการบูรณาการเสริมแกร่งร่วมกับศาสตร์อื่นๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานเครือข่าย SSHA ได้กล่าวเสริมถึงทิศทางการวิจัยของเครือข่ายฯ ในอนาคตว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือวิจัยที่ลุ่มลึก (Deep Collaboration) และซับซ้อนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG 10 (Reduce Inequalities) โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียนในลักษณะของ “ประเด็นร่วมในสังคมโลก”


ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ อายุ เพศสภาพ สังคม หรือเศรษฐกิจในมิติต่างๆ อาทิ ประชากรศาสตร์ การแพทย์และเทคโนโลยี หรือความเหลื่อมล้ำในมิติพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม-เพศสภาพ เป็นต้น


ซึ่งจะทำให้เกิดการจุดประกายและขับเคลื่อนสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovations) และต้นแบบ (Models) ขยายผลทำให้โลกดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนพร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ร่วมงานกับนักวิจัยระดับชาติและนานาชาติมุ่งทำงานวิจัยแบบบูรณาการเพื่อทุกจังหวะชีวิตของประชากรโลก

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก กองบริหารงานวิจัย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210