ในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลบนหน้ากระดาษ ได้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัล แม้นิทานพื้นบ้านที่อยู่ในความทรงจำ ด้วยสมองและสองมือก็สามารถนำมาสร้างคอนเทนต์ - สร้างเศรษฐกิจชาติต่อไปได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณมน ปุษปาพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้หนึ่งที่สอนรายวิชา “คติชนวิทยา” คือความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ให้รู้จักและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือน “มรดกสำคัญของชาติ” ไม่ให้สูญสลาย
เมื่อเข้าสู่โลกแห่งดิจิทัล “คติชนวิทยา” คือความหวังเดียวที่จะทำให้เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ไม่ลืม “รากเหง้า” ในวันที่รุ่งเรือง และพร้อมทำให้งดงามอยู่ในความทรงจำของทุกคนบนโลกที่ต้องการรู้จักและสัมผัสวัฒนธรรมไทยผ่านนิทานพื้นบ้าน
ไม่ว่าจะเป็น “ดาวลูกไก่” นิทานพื้นบ้านที่สอนใจให้รู้จักความกตัญญู “ตำนานผาแดง นางไอ่” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาของชาวอีสาน การค้นพบพื้นที่สำคัญทางภูมิศาสตร์ “ตาม่องล่าย” ที่ทำให้ได้รู้จักเกาะต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือน “สายโลหิต” ของการท่องเที่ยวทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออก มาถึง “ไกรทอง” และ “ขุนช้างขุนแผน” ของภาคกลาง ที่ให้ความสำคัญต่อการครองเรือน ฯลฯ ล้วนมีความหมาย แสดงถึง “วิถีไทย” ให้ทั่วโลกได้รู้จักและประทับใจไม่รู้ลืม
สิ่งสำคัญที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณมน ปุษปาพันธุ์ พยายามสอดแทรกในชั้นเรียน “คติชนวิทยา” สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2 - 4 ในบทเรียนแห่งการรังสรรค์นิทานพื้นบ้านไทยเสมอมา คือ “ความใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม” ที่กลายเป็นโจทย์ท้าทายนักศึกษาผู้สร้างว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ชมไม่เพียงได้ความบันเทิง แต่จะต้องได้สาระ หรือแง่คิดที่จรรโลงใจ และรู้จักหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ขัดต่อศีลธรรม สันติภาพ หรือความขัดแย้งในสังคมต่อไป
สิ่งที่คนไทยรุ่นเก่าบอกเล่าผ่านนิทานพื้นบ้านล้วนกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตที่ล้ำค่า แต่จะส่งต่อสู่เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ได้ยาวนานและยั่งยืน ตลอดจนแปรเปลี่ยนสู่การสร้างเศรษฐกิจชาติ - ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้มากเพียงใด ขึ้นอยู่กับเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ว่า พร้อมที่จะเรียนรู้รากเหง้าเพื่อแสดงให้โลกได้รู้ว่าเรารู้จักและเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้พร้อมที่จะรู้จักและเรียนรู้ผู้อื่นได้เพียงใด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210