ม.มหิดลเร่งเยียวยา‘เด็ก ACE’บอบช้ำจากความรุนแรง แนะเลี่ยง‘Re - Trauma’ถามซ้ำ - เจ็บซ้ำ

www.medi.co.th

ท่ามกลางความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในโลกที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน เหลือทิ้งไว้ซึ่งเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจจากประสบการณ์เลวร้าย (ACE - Adverse Childhood Experiences) มากมาย จนทั่วโลกได้มีการตั้งเกณฑ์ประเมินบาดแผลทางใจจากประสบการณ์อันเลวร้าย เพื่อให้เด็กได้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาต่อไป โดยได้มีการประเมินความรุนแรงด้วยการให้คะแนนที่แตกต่างกัน


แต่กว่าเด็กจะได้เข้ารับการพิจารณาช่วยเหลือต้องผ่านมากมายหลายด่าน โดยต้องเล่าถึงประสบการณ์ที่อยากจะลืม แต่ยากจะลืมครั้งแล้วครั้งเล่า จะเป็นอย่างไรต่อไป หากยังไม่มีผู้ใดฉุกคิดเลยว่าจะทำให้เด็กต้องกลับไปฝันร้ายอีกนานเพียงใด ด้วยการตั้งคำถามที่ทำให้เด็กต้องพูดถึงเรื่องราวเจ็บปวดใจที่ผ่านมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง  


นายแพทย์ศุภณัฐ วิโนทัย ผู้ช่วยอาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำหลักจิตวิทยาเพื่อการเยียวยาเด็กที่ได้รับประสบการณ์เลวร้าย (ACE) คือ การสร้าง Resilience หรือความยืดหยุ่นทางจิตใจ ซึ่งประกอบด้วย การที่เด็กได้มีความสัมพันธ์ที่รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และไว้ใจได้ พร้อมฝึกทักษะการควบคุมตนเอง (EF - Executive Functions) และเสริมประสบการณ์ชีวิตเชิงบวกให้แก่เด็กด้วยศิลปะ ดนตรี กีฬา อาหาร และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ฯลฯ


นอกจากนี้ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับเหตุผล และการควบคุมตนเอง กับสมองส่วนอารมณ์ที่จำเป็นต้องอยู่ในภาวะที่สมดุลกัน โดยพบว่าในเด็กทั่วไปหากตกอยู่ในความเครียด อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพของสมองส่วนหน้า ทำให้การควบคุมพฤติกรรม และผลการเรียนตกต่ำลงไปด้วยได้

แต่ในเด็ก ACE ที่ต้องตกอยู่ภาวะความเครียดที่เรื้อรังหรือรุนแรง และปราศจากความช่วยเหลือ จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะความเครียดเป็นพิษ (Toxic Stress) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท ฮอร์โมน การเผาผลาญ (Metabolism) ภูมิคุ้มกัน ตลอดจนส่งผลถึงระดับเหนือพันธุกรรม (Epigenetics)


ในส่วนของระบบประสาทนั้น ความเครียดเป็นพิษจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ให้ต้อง สู้ หรือ ถอย อยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้สมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับเหตุผล และการควบคุมตนเอง ทำงานได้ลดลง แต่สมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นให้มีความแปรปรวนมากขึ้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงในแบบเดียวกับที่เคยได้รับการกระทำในอดีตได้ต่อไป


แต่ที่ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น คือการให้เด็ก ACE ต้องกลับมาเล่าถึงฝันร้ายจากความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่อาจหลุดออกจากภาวะ “Re - Traumatization” เช่น ในเด็กไม่ว่าหญิง หรือชายที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ ต้องเล่าถึงเหตุการณ์อันเลวร้าย ไม่เฉพาะต่อจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รักษากฎหมาย แต่ยังต้องตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าว และสังคมรอบข้างอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเช่นในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นต้น


ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัว ชุมชน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมาร่วมตระหนักที่จะไม่ทำให้เด็ก ACE ต้องเจ็บปวดไม่รู้จบอีกต่อไป


มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  พร้อมทำหน้าที่ ปัญญาของแผ่นดิน ตามปณิธานฯ มอบองค์ความรู้โดยนอกจัดตั้ง ศูนย์สมานใจ ปฐมวัยสาธิตเพื่อเป็นต้นแบบด้านการช่วยเหลือเยียวยาเด็ก ACE และจัดอบรมทักษะที่เหมาะสมสำหรับการเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือเด็ก ACE ให้พ้นจากฝันร้ายแล้ว ยังพร้อมเป็นกำลังใจ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่เพิกเฉยแจ้งเบาะแสโทร. 1300 เมื่อพบการทารุณกรรมเด็ก


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210