ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย สิทธิบัตรทองรับบริการแล้วเกือบ 1.6 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่อาการไข้ ไอ เจ็บคอ

www.medi.co.th

ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ พ.ย. 65 - ก.พ. 67 มีประชาชนสิทธิบัตรทองรับบริการสะสมแล้วกว่า 6.9 แสนคน เป็นจำนวนรับบริการเกือบ 1.6 ล้านครั้ง เผย ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ได้รับการดูแลสูงสุดกว่า 7 แสนครั้ง รองลงมาเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ติดเชื้อโควิด ผื่นผิวหนัง และปวดท้อง ระบุเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบเพิ่มการเข้าถึงบริการ สะดวก ประหยัดค่าเดินทาง และลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม หรือ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมให้บริการสาธารณสุขภายใต้สิทธิประโยชน์และประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการตามที่ สปสช. กำหนด ที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับสภาเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบและการให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองที่ร้านยา


“โครงการร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (Common Illnesses) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมหน่วยบริการที่ได้เริ่มให้บริการเมืงอเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองฯ สามารถเข้าถึงยาและการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพและมาตรฐานภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรม ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล และช่วยลดแออัดที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งได้กำหนดให้มีการบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยในผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ


นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากข้อมูลในระบบของ สปสช. ล่าสุดมีร้านยาทั่วประเทศที่เข้าร่วมให้บริการในระบบจำนวน 1,716 แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการสะสม (ปีงบประมาณ 2566 - ก.พ. 2567) จำนวน 699,170 คน แยกเป็นผู้ป่วยชายจำนวน 26,329 คน และผู้ป่วยหญิงจำนวน 437,982 คน รวมเป็นจำนวนรับบริการ 1,587,002 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างติดตามดูแล 33,857 คน เมื่อแยกข้อมูลการตามกลุ่มอาการที่ทางร้านยาได้ให้บริการ ดังนี้


1.ไข้ ไอ เจ็บคอ จำนวน 700,205 ครั้ง 2. ปวดข้อ และ 3. ปวดกล้ามเนื้อ รวมเป็นจำนวน 329,572 ครั้ง 4.ผื่นผิวหนัง จำนวน 168,290 ครั้ง 5.ปวดท้อง จำนวน 134,836 ครั้ง


6.ความผิดปกติของดวงตา จำนวน 78,059 ครั้ง 7.ปวดหัว จำนวน 66,315 ครั้ง 8.เป็นแผล จำนวน 62,869 ครั้ง 9.ท้องเสีย จำนวน 50085 ครั้ง 10.เวียนหัว จำนวน 48,592 ครั้ง


11.ปวดฟัน จำนวน 41,046 ครั้ง 12.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร จำนวน 29,614 ครั้ง 13.ถ่ายปัสสาวะขัด/เจ็บ/ลำบาก จำนวน 17,284 ครั้ง 14.ตกขาวผิดปกติ จำนวน 11,592 ครั้ง 15.ปวดประจำเดือน จำนวน 11,192 ครั้ง และ 16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู จำนวน 7,896 ครั้ง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของร้านยานั้น 5 อันดับแรกของร้านยาที่มีการให้บริการมากที่สุด ได้แก่ ร้านยาดีเภสัช จ.หนองคาย จำนวน 25,905 ครั้ง ร้านวุฒิไกรเภสัช จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 13,999 ครั้ง ร้านยาหมอยาโอสถ สาขากุดจับ จ.อุดรธานี จำนวน 13,280 ครั้ง ร้านยาคลินิกยากูฟัด จ.นราธิวาส จำนวน 12,888 ครั้ง และร้านยาทุ่งลุง จ.สงขลา จำนวน 12,663 ครั้ง


        “โครงการร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการที่ร้านยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ 2567 เดือนธันวาคม มีจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอกที่ร้านยาสูงถึง 208,268 ครั้ง นับเป็นทางเลือกในการรับบริการสิทธิบัตรทองให้กับประชาชน มีความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทาง และลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขอชี้แจงว่า โครงการร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ เภสัชกรประจำร้านยาจะเป็นผู้ที่สอบถามและวินิจฉัยอาการเพื่อจ่ายให้ผู้ป่วยตามอาการ ซึ่งไม่ใช่โครงการแจกยาฟรี เพื่อให้นำไปเก็บไว้เผื่อใช้ยามเจ็บป่วยที่บ้าน ดังนั้น สปสช. จึงขอความร่วมมือประชาชนในการรับบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการฯ หากเภสัชกรวินิจฉัยแล้วว่าท่านไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยก็จะไม่มีการจ่ายยา ซึ่งจะทำให้โครงการฯ มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์กับประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับบริการ


ทั้งนี้ ในการเข้ารับบริการขอให้สังเกตสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยมีวิธีรับบริการ 2 รูปแบบ ไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ 1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน หรือ 2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย


หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา (นำบัตรประชาชนไปด้วย กรณีเด็กเล็กใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดคู่กับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง) เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของผู้ป่วย


ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ กรณีที่รับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 หรือ 72 ชั่วโมงของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะแนะนำให้ไปรักษาที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การรักษาต่อไป