เปิดตัว 2 หนังสือภาษาอังกฤษ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ “การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย”

www.medi.co.th

เปิดตัว 2 หนังสือภาษาอังกฤษ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ “การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” ผ่านมุมมองการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นข้อมูลการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ ต่อยอดสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับระบบในอนาคต 


 


        ดร.ณปภัช สัจนวกุล เจ้าหน้าที่ด้านการสังคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือศิลปะแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน (พ.ศ.2411-2545)” (The Art of Establishing Universal Health Coverage in Thailand : From Past to Present, c.1868 – 2002” และ “หนังสือเมื่อกระแสธารมาบรรจบ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงบังเกิด”(When streams converge, Universal Health Coverage was born, c.1868-2002) เปิดเผยว่า หนังสือประวัติศาสตร์ทั้ง 2 เล่มนี้ เป็นการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไทยในช่วงก่อนปี 2544-2545 ผ่านมุมมองด้าน ‘รัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์’ โดยเริ่มสนใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในมิติการเมืองช่วงที่ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และเมื่อกลับมาทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มีโอกาสทำงานด้านนโยบายสุขภาพ และอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง


ปีแรกเป็นการเก็บข้อมูล หาหลักฐานชั้นต้น เอกสารหายาก หรือบันทึกเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ และห้องสมุดตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เพื่อรวบรวมเอกสารต่างๆ รวมไปถึงราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง และในปีต่อมาเป็นขั้นตอนของการสกัด วิเคราะห์ เรียบเรียง จนกลายเป็นหนังสือทั้งสองเล่มนี้ สำหรับแนวทางการเขียนได้ใช้ 3 กรอบคิดผสมผสานเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย


หนึ่ง ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ สถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (historical institutionalism) ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับจุดเปลี่ยน หรือรอยต่อที่สำคัญ (critical junctures) และเส้นทางบังคับ (path dependence) ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องราว เหตุการณ์ และการตัดสินใจสำคัญในอดีตมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายในปัจจุบัน รวมถึงอนาคต


สอง ทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อน หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การสร้างหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นฟันเฟืองที่หนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากในระบบสุขภาพ ตั้งแต่การสร้างความรู้ การขับเคลื่อนจากสังคม และการขานรับจากภาคการเมือง


        และ สาม กรอบการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือ ‘Health System Building Blocks’ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่อธิบายการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบบริการ การสร้างและรักษากำลังคน การเงินการคลัง ระบบยา ระบบข้อมูล และการอภิบาล

ดร.ณปภัช กล่าวต่อว่า ตั้งใจให้เนื้อหาครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และจะไม่พยายามให้ความสำคัญกับบุคคลหรือกลุ่มคณะใดเป็นการเฉพาะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะบางกลุ่มก็มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบบสุขภาพในความเป็นจริง


        “หนังสือพยายามชี้ให้เห็นว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามวัน แต่เกิดจากการสร้างและพัฒนาแต่ละจุดไปเรื่อยๆ อย่างมีทิศทาง เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองจนมาบรรจบกัน เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนในวันนี้” ดร.ณปภัช กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามอนาคตจะเป็นเรื่องดี หากสิทธิประโยชน์และการจัดบริการทั้ง 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพมีความใกล้เคียงกันมากจนแทบไม่มีข้อแตกต่าง และทำให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อระบบร่วมกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการปกป้องระบบและสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐนี สัจนวกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการเขียนหนังสือเล่มนนี้ มองว่าประวัติศาสตร์เป็นตัวเสริมมุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองได้ ทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยในฐานะคนนอกและไม่ได้เป็นแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ก็จะมีมุมมองต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต่างออกไป จึงคิดว่างานชิ้นนี้น่าจะช่วยเสริมหรือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับที่มา และการพัฒนาระบบสุขภาพไทยขึ้นมาได้ ซึ่งในการจัดทำหนังสือทั้งสองเล่ม จะเป็นการดำเนินเรื่องการเดินทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม ใช้เวลาในการจัดทำประมาณ 2 ปี


        ทั้งนี้ เชื่อว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าอาจจะต่างบริบทกันออกไป แต่เชื่อว่าเรื่องราวของ “กลุ่มหมอนักปฏิรูป’ ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด ความฝันที่อยากจะสร้างอะไรดีๆ ให้สังคม จะยังเป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังให้กับคนรุ่นต่อไป


        “แม้ว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในมุมมองของคนที่อยู่นอกระบบสาธารณสุข แต่มั่นใจว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” ดร.ณัฐนี กล่าว