ม.มหิดลร่วมพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี

www.medi.co.th

ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน และความท้าทายที่ต้องฝ่ามรสุมจากนานาวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดลเดินหน้าร่วมผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า วิทยาลัยศาสนศึกษา ในฐานะที่เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการนำแนวคิด “Small but Smart" มาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการพัฒนาองค์กรเพื่อให้บรรลุพันธกิจด้านต่างๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณทางทีมบริหารชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ที่ได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมา


คำว่า “Small" ในที่นี้ สะท้อนแนวคิดในการบริหารจัดการที่ใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG12: Responsible Consumption and Production โดยการใช้ทรัพยากรต่างๆ นั้น ต้อง “Smart" คือใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ในการก้าวจากจุดเล็กๆ ไปสู่จุดหมายการพัฒนาพันธกิจการศึกษา และการบริการวิชาการสู่สังคมอย่างยั่งยืน


ในด้านการศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิต ให้เห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าตนเอง และทุกคนภายใต้ความหลากหลายทางศาสนา และความแตกต่างในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด SDG5, SDG10, SDG16 นอกจากนี้หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นยังช่วยให้บัณฑิตให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาวะทางจิตให้มี จิตวิญญาณที่ดี และสอดแทรกการฝึกทักษะ การคิดเชิงวิพากษ์

ความท้าทายที่โลกเรากำลังเผชิญ คือ ในขณะที่เราเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่จำนวนผู้คนที่มีปัญหาทางจิตใจ กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกราว 300 ล้านคน และในไทยราว 1.5 ล้านคน ดังนั้น เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ ตามเป้าหมาย SDG3 : Good Health and Well - being ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายในด้านอื่นๆ


การพัฒนาทักษะ การคิดเชิงวิพากษ์ ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง และผู้อื่น และมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งทักษะเหล่านี้ช่วยสร้างนักศึกษาให้เป็นพลเมืองโลก (Global Citizens)


นอกจากนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างเวทีศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวิชาการ ด้านศาสนาและจิตใจ ระดับสากล จากการจัดสัมมนาและบรรยายนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา วิทยากรจากหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ Oxford University สหราชอาณาจักร University of Moravian และ University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา และ University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย


สังคมชาวตะวันตกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาวะทางจิต โดยในหลายประเทศใช้เทคนิคการฝึกจิต หรือฝึกสมาธิ เพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ดังนั้น วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเล็งเห็นความสำคัญของการให้ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่เพื่อช่วยดูแลสุขภาวะทางจิต เนื่องจากนอกจากจะมีความสำคัญต่อการดูแลสภาวะองค์รวมแล้ว เรื่องของจิตใจยังเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210