ศิริราชในทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงผลิตแพทย์ แต่คือ “คลังสมอง” ของระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาแพทย์ศิริราชในปัจจุบันไม่ได้เพียงศึกษาวิชาสู่การเป็นแพทย์ที่ดี - มีฝีมือในการรักษา แต่พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขสู่ระดับโลกเพื่อสุขภาพที่ดีของมวลมนุษยชาติในภายภาคหน้า
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของศิริราชในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพสาธารณสุขผ่านการทำงานวิจัย
โดยตัวอย่างสำคัญที่ผ่านมา ได้เป็นกำลังสำคัญในการทำวิจัยที่นำผลไปใช้ในการขับเคลื่อนให้ประชากรไทยทุกสิทธิที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สามารถรับการตรวจยีน BRCA1 / BRCA2 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันจะส่งผลให้ประชากรไทยมีโอกาสที่ดีขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมีโอกาสได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น หรือลดโอกาสในการเป็นมะเร็ง
นอกเหนือไปจากนั้น หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ ยังมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพและการประเมินความคุ้มค่าของยา และการรักษาใหม่ๆ เช่น การศึกษาความคุ้มทุนของการฉีดโบทอกซ์ (Botox) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเกร็ง หรือการศึกษาความคุ้มค่าของการใช้ยาเบาหวานชนิดใหม่ (SGLT2i) ในผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย ผู้ที่มีภาวะไตเรื้อรัง การศึกษาความคุ้มค่าของการใช้เท้าเทียมไดนามิกในผู้ที่ใส่ขาเทียม
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ ยังได้กล่าวถึงงานที่ทางหน่วยวิจัยฯ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ “การดูแลสุขภาพระยะเฉียบพลัน” “การดูแลระยะกลาง” และ “การดูแลระยะยาว”
โดยปัจจุบัน ระบบทางสุขภาพโดยส่วนใหญ่ เน้นการดูแลระยะเจ็บป่วยเฉียบพลัน เพื่อให้หายจากความเจ็บป่วย ยังมีการดูแลที่เรียกว่า “การดูแลระยะยาว” ซึ่งจะเน้นดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะทุพพลภาพแล้ว ส่วน “ระบบการดูแลระยะกลาง” ซึ่งเน้นการฟื้นฟูผู้ที่มีการถดถอยชั่วคราวหลังการเจ็บป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดูแลและพึ่งพาตนเองได้ต่อไปอย่างยั่งยืน ลดโอกาสการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงถาวร ซึ่งหากประเทศมีการจัดเตรียมระบบการดูแลระยะกลางที่เหมาะสมและเพียงพอ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในระยะยาวของประเทศ
ว่าที่บัณฑิตแพทย์ศิริราช ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ เยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2566 ได้เสนอแนวคิดเพื่อให้โลกได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการประชุมระดับชาติ National UHC Conference 2023 ก่อนเดินทางไปศึกษาดูงานที่องค์การอนามัยโลกในต้นปี พ.ศ. 2568
จากประสบการณ์ที่เคยได้ปฏิบัติหน้าที่ในสมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA - Thailand) ของว่าที่บัณฑิตแพทย์ศิริราช ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ ตั้งแต่ยังศึกษาชั้นปีที่ 2 ทำให้เกิดมุมมองต่อยอดระบบการดูแลสุขภาพสู่ระดับโลก แม้กว่าสองทศวรรษที่ทั่วโลกยกย่องไทยในฐานะต้นแบบหลักประกันสุขภาพ และได้มีการนำไปปรับใช้อย่างกว้างขวาง แต่ยังคงต้องศึกษาถึงแนวปฏิบัติจริงในบริบทที่แตกต่างกันต่อไป
ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี ต้องมีการคำนึงถึง และเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยทั้ง 3 อย่างครบถ้วน ได้แก่ จำนวนประชากรที่ครอบคลุมและเข้าถึงบริการสุขภาพ (Population) ค่าใช้จ่าย (Cost) และคุณภาพของการให้บริการสุขภาพ (Quality of Care) หลังกลับจากเดินทางไปศึกษาดูงานที่องค์การอนามัยโลก ว่าที่บัณฑิตแพทย์ศิริราช ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ ให้คำมั่นฯ ว่าพร้อมกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจากหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าว โดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210