สภากายภาพบำบัด แนะเพิ่มการดูแล “ผู้ป่วยข้อเข่า-ออฟฟิศซินโดรม” ใน 30 บาทรักษาทุกที่เฟสถัดไป

สภากายภาพบำบัดหวังคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 มากขึ้น หลังจาก สปสช. เป็นตัวกลางทำความเข้าเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาล พร้อมเตรียมเสนอเพิ่มรายการบริการในกลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และกลุ่มผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมในเฟสถัดๆ ไป

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 ที่ จ.พังงา โดยมีตัวแทนจากสภาวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการร่วมวิชาชีพ เกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง


ผศ.ดร.กานดา ชัยภิญโญ ผู้แทนจากสภากายภาพบำบัด กล่าวว่า ในส่วนของวิชาชีพกายภาพบำบัด การนำร่อง 4 จังหวัดในเฟส 1 ที่ผ่านมา ยังมีคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก พื้นที่ที่เข้าร่วมส่วนมากจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นค่อนข้างจะตอบสนองกับนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพ


ผศ.ดร.กานดา กล่าวว่า ปัญหาการดำเนินงานที่พบในเฟส 1 คือเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาล เนื่องจากระบบที่วางไว้คือผู้ป่วยจะรับการรักษาในโรงพยาบาลก่อน แล้วให้โรงพยาบาลเป็นคนส่งต่อมาฟื้นฟูสมรรถภาพที่คลินิกกายภาพบำบัด ขณะที่ตัวคลินิกเองต้องประสานงานกับโรงพยาบาลเองเพื่อให้โรงพยาบาลส่งต่อให้ แต่ปัญหาคือโรงพยาบาลอาจไม่รู้ว่าจะส่งต่อใคร และเมื่อคลินิกเข้าไปติดต่อก็อาจจะไม่ได้รู้จักกันหรือไม่ได้ไว้วางใจกัน อีกทั้งยังเป็นภาระของโรงพยาบาลในการทำข้อมูลการส่งต่อเพิ่มเติม


“เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจน ตอนนี้คอขวดคือคนไข้เยอะมาก แต่ต้องมีสักคนที่ไปคีย์ข้อมูลเพื่อส่งต่อ แล้วเมื่อคลินิกกายภาพบำบัดสมัครเข้ามาแล้วก็ต้องมาเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล ดังนั้นต้องมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งในเฟส 2 เราได้มีการหารือถึงปัญหาเหล่านี้และได้รับความร่วมมือมากขึ้น สปสช. ก็พยายามเป็นคนกลางในการสื่อสารกับโรงพยาบาลในเรื่องนี้ หรือบางจังหวัดทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็เชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาทำความเข้าใจว่าระบบเบิกจ่ายเป็นอย่างไร โรงพยาบาลต้องทำอะไรบ้าง จะลดความแออัดและสร้างโอกาสแก่คนไข้ในการเข้าถึงบริการได้อย่างไร ซึ่งถ้ามีความเข้าใจตรงนี้ส่วนมากโรงพยาบาลให้ความร่วมมืออยู่แล้ว” ผศ.ดร.กานดา กล่าว

นอกจากนี้ การที่ สปสช.เดินสายชี้แจงตามจังหวัดต่างๆ ก็ทำให้การรับรู้ดีขึ้นและคาดหวังว่าจะมีคลีนิคกายภาพบำบัดสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น แม้อัตราการจ่ายค่าบริการที่ สปสช. จ่ายให้คลินิก ถ้าพูดตรงๆ คือต่ำกว่าอัตราที่คลินิกเรียกเก็บตามปกติค่อนข้างมาก แต่ทางสภากายภาพบำบัดพยายามชักชวนว่าระยะแรกเอาตามศักยภาพที่มี เช่น ให้บริการช่วงที่คลินิกมีเวลาว่างหรือสามารถจัดสรรคนได้ ก็ถือว่าเป็นการทำเพื่อประชาชน และในอีกมุมหนึ่งก็มีส่วนประชาสัมพันธ์ตัวคลินิกเองเหมือนกันว่าไม่ได้ดูแลเฉพาะคนที่สามารถจ่ายเงินได้ คนที่จำเป็นต้องได้รับบริการแต่ยังเข้าไม่ถึงก็มีสิทธิ์ได้รับบริการที่ดีเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่ได้พูดคุย คลินิกต่างๆ ก็อยากช่วยเพราะมองว่ามันเป็นส่วนที่สามารถทำได้ คลินิกสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ใช้เวลาที่ว่างหรือจัดสรรทรัพยากรไปดูแลหรือออกไปเยี่ยมบ้านได้


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ที่สามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการกายภาพบำบัดในคลินิกที่เข้าร่วมโครงการได้ คือ 1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2.ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) 3.ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่ และ 4.ผู้ป่วยภาวะวิกฤตสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip)


อย่างไรก็ดี สภากายภาพบำบัดได้เสนอ สปสช. ว่าในเฟสถัดๆ ไป ยังมีสิ่งที่นักกายภาพบำบัดช่วยให้บริการได้ คือ กลุ่มที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพราะบางคนเมื่อกลับบ้านแล้วเข่าบวม เจ็บ เดินไม่ไหว จำเป็นต้องมีนักกายภาพเข้าไปดูแล รวมทั้งกลุ่มที่มีอาการปวดทั้งหลาย เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม นักกายภาพบำบัดสามารถดูแลในเรื่องการให้คำแนะนำในการสังเกตอาการตัวเองและวิธีการออกกำลังกายเพื่อหยุดยั้งอาการปวด ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาไปเรื่อย ๆ บางคนต้องรักษานานเป็นปี แม้คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้และไม่กลายเป็นผู้ป่วยในอนาคต อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้ต้องค่อยๆ เจรจาขยับขยายบริการเพื่อผู้ป่วยได้รับบริการได้รับมากขึ้น