กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการสำรวจอนามัยโพล “น้ำประปาดื่มได้..จริงหรือ” ผลการสำรวจ พบว่า แหล่งน้ำดื่ม 3 อันดับแรก ที่ประชาชนดื่มบ่อยมากที่สุด คือ น้ำบรรจุขวดปิดสนิท ร้อยละ 58 รองลงมาคือ น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองน้ำในบ้าน ร้อยละ 20 และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร ร้อยละ 18
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศเป็นวันน้ำโลก หรือ World Water Day กรมอนามัยจึงได้ทำการสำรวจอนามัยโพลโพล ประเด็น “น้ำประปาดื่มได้..จริงหรือ” ตั้งแต่วันที่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สำหรับนำมาประกอบการวางแผน และการสื่อสารสร้างความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเด็นน้ำบริโภค มีผู้ตอบแบบสำรวจ 700 คน ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า แหล่งน้ำดื่ม 3 อันดับแรก ที่ประชาชนดื่มบ่อยมากที่สุด คือ น้ำบรรจุขวดปิดสนิท ร้อยละ 58 รองลงมาคือ น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองน้ำในบ้าน ร้อยละ 20 และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร ร้อยละ 18 ซึ่งสอดคล้องกับระดับความพึงพอใจต่อประเภทแหล่งน้ำดื่ม พบว่า ประชาชนร้อยละ 75 พึงพอใจน้ำบรรจุขวดปิดสนิท รองลงมา คือ น้ำประปาผ่านเครื่องกรองน้ำในบ้านร้อยละ 41 และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร ร้อยละ 31
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นคำถาม เรื่อง “น้ำประปาดื่มได้..จริงหรือ” จากผลสำรวจอนามัยโพล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ ร้อยละ 31 คิดว่าน้ำประปาดื่มได้จริง ในขณะที่มีผู้ที่ตอบว่า “น้ำประปาดื่มได้...เป็นเรื่องไม่จริง” มีมากถึงร้อยละ 54 และไม่ทราบมาก่อนว่าน้ำประปาดื่มได้ ร้อยละ 15โดยสิ่งที่ประชาชนกังวลเกี่ยวกับน้ำประปามากที่สุด ร้อยละ 61 คือ ความสะอาดของสถานที่ผลิต แหล่งผลิต ผู้ผลิต และน้ำที่ใช้ในการผลิต ร้อยละ 40 กังวลว่าระบบการผลิตไม่ได้ตามมาตรฐาน ร้อยละ 33 กังวลว่าน้ำประปา/น้ำดื่ม จะขาดแคลนในฤดูแล้ง และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ไม่กังวลเกี่ยวกับน้ำประปา เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกในประเด็น “น้ำประปาดื่มได้..จริงหรือ” เปรียบเทียบ ระหว่างผู้ที่อยู่ในพื้นที่บริการของการประปานครหลวง (กปน.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่อื่น พบว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่บริการของ กปน. เห็นด้วยว่าน้ำประปาดื่มได้ ที่ร้อยละ 36 ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อื่น เห็นด้วยว่าน้ำประปาดื่มได้เพียง ร้อยละ 29 ซึ่งผู้ที่ให้ความเห็นส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มั่นใจในระบบการผลิตน้ำประปาที่ได้มาตรฐานถึงร้อยละ 79 รองลงมา คือ เชื่อมั่นเพราะได้รับการรับรองจากกรมอนามัย ร้อยละ 40 และเห็นว่ามีความสะอาดดื่มได้ ปลอดภัยจากสารเคมี ร้อยละ 21 ตามลำดับ
“ทั้งนี้ กรมอนามัย และการประปานครหลวง (กปน.) จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดการคุณภาพน้ำประปา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปาให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศ ร่วมกันพัฒนาด้านวิชาการ สำหรับการตรวจสอบกระบวนการผลิตน้ำประปาให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยตามแผนจัดการน้ำปลอดภัย หรือ Water Safety Plans ขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำประปา ให้เป็นน้ำประปาดื่มได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ ด้านการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน สื่อสารความเสี่ยงเรื่องคุณภาพน้ำประปา และสร้างความรอบรู้ด้านคุณภาพน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถตรวจสอบพื้นที่ที่ผ่านการรับรองคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย ผ่านทางเว็บไซต์สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย และตรวจสอบผลคุณภาพน้ำประปาของการประปานครหลวงได้ที่เว็บไซต์ของการประปานครหลวง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว