ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดูแลสุขภาพประชาชนที่เดินทางเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 22 วัน มีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 4.6 แสนราย ส่วนใหญ่ขอรับยาดม แอมโมเนีย ผ้าเย็น ให้การปฐมพยาบาล 5.4 หมื่นราย ตรวจรักษาโรคเกือบ 2 พันราย นำส่งโรงพยาบาล 66 ราย พบอาการหลอดเลือดสมอง 2 ราย หัวใจขาดเลือด 2 ราย ได้รับการดูแลรักษาแล้ว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตามโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่ จัดทำแผนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนที่เข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ในพื้นที่ ทั้ง 4 จังหวัด โดยมีบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขร่วมดูแล ดังนี้ 1.มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร 80 คน/วัน 2. หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ 45 คน/วัน 3.วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี 90 คน/วัน และ 4.วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ 250 คน/วัน
โดยตลอดระยะเวลา 22 วัน มีประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ใน 4 จังหวัด เข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวม 461,007 ราย แบ่งเป็น รับบริการพื้นฐาน ยาดมแก้วิงเวียน แอมโมเนีย ผ้าเย็น 404,362 ราย, ปฐมพยาบาล 54,745 ราย, ตรวจรักษาโรค 1,843 ราย, ประเมินสุขภาพจิต 54 ราย, ควบคุมโรคติดต่อ 3 ราย และนำส่งโรงพยาบาล 66 ราย โดยพบป่วยเป็นโรคที่มีความเสี่ยงรุนแรง 4 ราย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2 ราย ส่งตัวผ่านระบบ Stroke Fast track เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกระบี่ และอาการเจ็บหน้าอก (Chest Pain) 2 ราย จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งตัวเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลกระบี่ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี