กระทรวงสาธารณสุข ส่งแพทย์รุ่นใหม่จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท 1,059 คน ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลทั่วประเทศตามภูมิลำเนา ช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน
วันนี้ (1 เมษายน 2567) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 1,059 คน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 15 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เข้าร่วม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ห่างไกล กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 1-3 จะศึกษาในคณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน จะกระจายไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 133 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 398 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคตะวันออก 79 คน ภาคตะวันตก 43 คน และภาคใต้ 218 คน โดยตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 23 รุ่น รวม 13,780 คน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เตรียมการผลิตแพทย์เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศในอนาคต โดยจะยกระดับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปใน 76 จังหวัด ให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการและแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา ครอบคลุมทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อผลิตแพทย์รองรับการขยายบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศด้วย
1 เมษายน 2567