ด้วยเทคโนโลยีทำให้ "Midwife" หรือ “ผดุงครรภ์” ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ “ช่วยสตรี” ให้ได้รับความปลอดภัยในช่วงให้กำเนิดบุตร ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบทบาทดังกล่าวสู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คอยเป็นเพื่อนช่วยดูแลแม่ตั้งครรภ์ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างต่อเนื่องทุกมิติสุขภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธารา น่วมภา อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์พยาบาลนวัตกรผู้คิดค้นแอปพลิเคชัน “แคร์ฟอร์มัม” (Care for Mom) จะทำให้โลกของ “Midwife” ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การฝากครรภ์แต่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น
หากยังสามารถใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการเชื่อมต่อระหว่าง “พยาบาลผดุงครรภ์” (Nurse Midwife) กับแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงสูง ที่ทำให้ได้เข้าถึงแก่นแท้ของปรัชญาแห่ง “การพยาบาลแม่นยำ” (Precision Nursing) ซึ่งเป็นทิศทางการพยาบาลยุคใหม่ที่เน้นการดูแลเฉพาะราย (Individual Care) ซึ่งให้ผลที่ตรงจุด พร้อมให้การดูแลได้อย่างยั่งยืนมากกว่าเดิม
แอปพลิเคชัน “แคร์ฟอร์มัม” (Care for Mom) เปิดโอกาสให้มารดาตั้งครรภ์ได้บันทึกข้อมูลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ผ่านแอป โดยระบบจะประมวลผลข้อมูลที่เป็นภาพรวมออกมาในลักษณะของ “กราฟสถิติ” เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบและปรับปรุงการออกแบบดูแลผดุงครรภ์รายบุคคลแบบเรียลไทม์ (Realtime) ที่พร้อมให้คำปรึกษา และแจ้งเตือนในยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธารา น่วมภา มองว่าการให้การดูแลแม่ตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่ตั้งครรภ์และพยาบาลผดุงครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย ยั่งยืนกว่าการดูแลเพื่อการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งในบางกรณีอาจรุนแรงจนเกินแก้
ตัวอย่างที่ไม่คาดคิดดังเช่น กรณีแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องจนครรภ์เป็นพิษ และต้องเสียชีวิตทั้งแม่และลูกไปอย่างน่าเสียดายในที่สุด เป็นต้น
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน “แคร์ฟอร์มัม” (Care for Mom) ได้รับการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการขยายผลแปลสู่ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ทุนสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ประเทศไทย (Rockefeller Foundation)
และทดลองใช้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับตติยภูมิ ก่อนกระจายส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยเตรียมผลักดันให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” เพื่อให้เกิดผลที่ยั่งยืน เป็น "Midwife" ในมือถือที่เข้าถึงแม่ตั้งครรภ์ทุกรายแม้เพียงปลายนิ้วได้อย่างภาคภูมิตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210