สปสช.ย้ำหลักการสร้างนำซ่อม มอบสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ

www medi.co.th

สปสช. ย้ำหลักการสร้างนำซ่อม ให้ความสำคัญกับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิ มีชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมตามกลุ่มวัย พร้อมร่วมมือสภาวิชาชีพเพิ่มหน่วยบริการประเภทต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้านใกล้ใจมากยิ่งขึ้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภาพของระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ผู้คนอาจคิดว่าเน้นไปที่การให้ผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาพยาบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว สปสช. เน้นหลักการ “สร้างนำซ่อม” หรือการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ทำให้ประชาชนตระหนักและดูแลสุขภาพของตน เพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงแล้วไม่ต้องป่วยจนต้องเข้ามารับการรักษา โดยนอกจากสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิบัตรทอง 47 ล้านคนแล้ว สปสช. ยังจัดชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนคนไทยทุกคนทุกสิทธิ รวมกว่า 67 ล้านคน ครอบคลุมทุกช่วงวัย


“สปสช. ไม่ได้ดูเรื่องการรักษาให้ผู้มีสิทธิบัตรทองอย่างเดียวแต่ดูเรื่องการส่งเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคนด้วย ปัจจุบัน มีผู้ป่วยในประมาณ 7 ล้าน ในจำนวนนี้พบว่าถ้าตรวจเจอโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจรักษาได้ทันและไม่ต้องมานอนโรงพยาบาล ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การตรวจคัดกรอง การฉีดวัคซีน มีความสำคัญมาก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า สิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ สปสช. จัดให้แก่ประชาชนนั้น จะมีชุดบริการที่เหมาะกับวัยนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนตั้งครรภ์จะมีบริการตรวจการตั้งครรภ์ปีละ 4 ครั้ง และถ้าตั้งครรภ์แล้วมีบริการฝากครรภ์ปีละ 8 ครั้ง ในการฝากครรภ์มีตั้งแต่ตรวจวัดความดัน ตรวจน้ำตาลในเลือด ฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพช่องปาก ฯลฯ


หรือในกลุ่มเด็กแรกเกิด เมื่อคลอดแล้วจะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองโรครวม 40 กลุ่มโรค ตรวจภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจคัดกรองการได้ยิน ตรวจภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ฯลฯ ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาและทำให้เด็กเติบโตมามีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต


ขณะที่กลุ่มสุภาพสตรี ก็มีการตรวจคัดกรองปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่ถ้าตรวจเจอเร็วจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดสูงมาก แต่กระบวนการตรวจคัดกรองอาจทำให้ผู้หญิงเขินอายไม่กล้าเข้ามาตรวจ จากข้อมูลปี 2566 มีผู้หญิงมารักษามะเร็งปากมดลูก 5,500 คน ในจำนวนนี้ 2,000 คน เสียชีวิตเพราะมาในระยะที่โรคลุกลามแล้ว แต่ถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรกก็อาจไม่ต้องเสียคนกลุ่มนี้ไป ซึ่งปัจจุบัน สปสช.ได้นำเทคโนโลยี HPV DNA ซึ่งมีความแม่นยำสูง และเป็นชุดตรวจที่ผู้หญิงสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง ขณะนี้กำลังขยายผลการใช้งานทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงที่มีไวรัส HPV ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ไม่ลุกลามหนักจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต

“นอกจากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้ว สปสช. ยังจัดสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกมาก เช่น การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่สามีภรรยาและในเด็ก การคัดกรองไวรัสตับอักเสบ คัดกรองมะเร็งเต้านม คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ เหล่านี้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เอาบัตรประชาชนใบเดียวไปที่หน่วยบริการได้เลย หรือบางรายการก็ไปรับด้วยตัวเองได้ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก ก็ไปรับที่ร้านยาหรือคลินิกพยาบาลก็ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


นอกจากนี้บริการคัดกรองแล้ว สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ยังครอบคลุมถึงเรื่องการให้วัคซีน เช่น เมื่อมีสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาด คนบางกลุ่มที่ร่างกายไม่แข็งแรงและหากป่วยขึ้นมาจะอาการหนักมาก เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ สปสช. ก็มีสิทธิประโยชน์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน รวมทั้งวัคซีนอื่นๆที่จำเป็นในเด็กก็มีการจัดสิทธิประโยชน์ให้

เหล่านี้เป็นตัวอย่างว่า สปสช. มีสิทธิประโยชน์ตามกลุ่มวัยในทุกช่วงวัย และทุกๆปีเรามีการประชุมชี้แจงโรงพยาบาลต่างๆ ว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่สามารถจัดบริการและเบิกค่าใช้จ่ายได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ควรทราบสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรับบริการ


นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันถือว่าสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของ สปสช. ค่อนข้างมีความครอบคลุม แต่โจทย์ต่อมาคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการ สปสช. จึงร่วมมือกับสภาวิชาชีพต่างๆ เชิญชวนให้หน่วยบริการวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมให้บริการประชาชน เช่น ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกทันตกรรม ฯลฯ ก็ทำเกิดลักษณะที่เรียกว่า “ใกล้บ้านใกล้ใจ” ประชาชนให้การเข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล