รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลราชบุรีเพิ่มศักยภาพตามนโยบายเรื่อง “มะเร็งครบวงจร”มีแพทย์เชี่ยวชาญ 5 มะเร็งสำคัญดูแลร่วมกับสหวิชาชีพ ไม่ต้องส่งผู้ป่วยออกนอกเขต ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดระยะเวลารอคอยการรักษา พร้อมสถานชีวาภิบาลดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับคอง เดินหน้าพัฒนาเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ต่อไป
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 855 เตียง ได้เพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ด้านมะเร็งครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน การวินิจฉัย การรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายแสง โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (Cancer Warrior) โรคมะเร็ง 5 โรคสำคัญ ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งกระดูกและข้อ พร้อมทีมสหวิชาชีพร่วมให้การดูแล ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษานอกพื้นที่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลารอคอยในการรักษา โดยบริการรักษาร่วมด้วยเคมีบำบัด รองรับผู้ป่วยนอกได้ 18 เตียง และแบบพักค้างอีก 18 เตียง เฉลี่ยให้บริการได้ 40 รายต่อวัน รวมมากกว่า 10,000 รายต่อปี ขณะที่บริการด้านรังสีรักษา มีเครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC) และเครื่องฉายรังสีเชิงปริมาตร Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT) ที่มีความทันสมัย ให้ผลการรักษาที่ดี ได้เพิ่มการบริการนอกเวลาราชการไปจนถึง 21.30 น. รองรับผู้ป่วยได้ 120 ราย/วัน
ด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า ในปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2567) โรงพยาบาลมีผลการดำเนินงานด้านโรคมะเร็งสำคัญ ได้แก่ ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธี FIT Test 252 ราย ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ พบมะเร็ง 3 ราย ตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง 69 ราย และตรวจเต้านมในหญิงอายุ 30-70 ปี 31,946 ราย จากเป้าหมาย 49,737 ราย ส่วนโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ได้ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี 8,655 ราย พบ 134 ราย เข้ารับการรักษา 109 ราย ไวรัสตับอักเสบซี 11,959 ราย พบ 43 ราย เข้ารับการรักษา 35 ราย พบทั้ง 2 ชนิด 9 ราย เข้าสู่ระบบการรักษาทั้งหมด โดยมีการตรวจติดตามต่อเนื่องโดยอายุแพทย์โรคตับ หากพบมะเร็งจะส่งต่อศัลยแพทย์เพื่อร่วมกันรักษาโดยผ่าตัด ให้เคมีบำบัดและรังสีรักษา ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน เข้ารับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด 76 ราย ทั้งนี้ ได้จัดทำศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี ที่วัดหนองหอย จังหวัดราชบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และได้จัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับคองด้วย โดยในอนาคตโรงพยาบาลมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์อีกด้านหนึ่งด้วย
8 เมษายน 2567