ผุดไอเดียใหม่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ จัด 'นาคาล้อมรักษ์' เป็น ศูนย์พักคอย ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด สกัดเส้นทางก่อความรุนแรง พร้อมจัดระบบเข้ารับการบำบัดหลังอาการสงบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรงในพื้นที่ คนในชุมชนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย จัดตั้งศูนย์พักคอย (นาคาล้อมรักษ์) มีทีมอาสารักษาดินแดน พร้อมทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโซ่พิสัย ร่วมดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยง/ก่อความรุนแรงจนอาการสงบ ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระยะถัดไป ช่วยผู้ป่วยยาเสพติดกลับคืนสู่ชุมชนและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยยาเสพติดกลุ่มที่มีอาการและมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง เป็นกลุ่มที่ชุมชนจะมีความกังวลเรื่องของความปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ได้ใช้พื้นที่ของกองร้อยอาสารักษาดินแดน อำเภอโซ่พิสัย ที่ 5 จัดทำเป็นศูนย์พักคอย (นาคาล้อมรักษ์) หากพบผู้ป่วยกลุ่มสีส้ม สีแดง ที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงหรือก่อเหตุรุนแรงในชุมชน จะส่งตัวเข้าศูนย์พักคอยเพื่อรับการรักษาจากจิตแพทย์ มีพยาบาลวิชาชีพประเมินอาการทุก 6 - 8 ชั่วโมง และมีจิตแพทย์โรงพยาบาลบึงกาฬติดตามอาการผ่านระบบตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) ทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ผ่านการอบรม ติดตามดูพฤติกรรม อารมณ์ เฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้ป่วยยาเสพติดอาการสงบดีแล้วจึงส่งต่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดในระยะถัดไปจนหายขาด สามารถกลับคืนสู่ชุมชนและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
“ศูนย์พักคอย (นาคาล้อมรักษ์) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดระบบบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน ทั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องกังวลเรื่องของความปลอดภัย ขณะที่ผู้ป่วยยาเสพติดก็ได้รับดูแลอย่างมีมาตรฐาน” นพ.ชลน่านกล่าว


ทั้งนี้ ศูนย์พักคอย (นาคาล้อมรักษ์) เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 15 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการสะสม 41 ราย เป็นเพศชาย อายุ 25 - 39 ปี แบ่งเป็น ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด 34 ราย และผู้ป่วยจิตเวชขาดยา 7 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยอาการเอะอะโวยวาย ทำลายข้าวของ เห็นภาพหลอน มีอาวุธ ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 1 เดือน พบว่าญาติและคนในชุมชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ มีความพึงพอใจอย่างมาก


18 เมษายน 2567