'สมศักดิ์' เปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ช่วยชาวสระบุรีประหยัดค่าใช้จ่ายราว 1.3-1.6 ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จ.สระบุรี มุ่งแก้ไขปัญหาสุขภาพสำคัญในพื้นที่ จัดบริการ 24 คลินิกเฉพาะทาง ดูแลประชาชนกว่า 2,000 คน ประหยัดค่าใช้จ่าย 1.3 - 1.6 ล้านบาท เผย 5 เดือน ออกหน่วยแพทย์แล้ว 71 ครั้ง ใน 63 จังหวัด ช่วยประชาชนพื้นที่ห่างไกลกว่า 1 ล้าน 7 หมื่นราย เข้าถึงบริการการแพทย์เฉพาะทาง


วันนี้ (23 มิถุนายน 2567) ที่ โรงพยาบาลพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี คณะผู้บริหาร และส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม โดยกล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ได้รับการค้นหาและรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดการป่วยและเสียชีวิต ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ได้จัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางออกให้บริการประชาชนแล้ว 71 ครั้ง ครอบคลุม 63 จังหวัด ประชาชนได้รับบริการ 1,071,692 ราย โดยวันนี้มีการจัดบริการที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดยะลา


นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 พบว่า สาเหตุการตายและการป่วยที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของชาวสระบุรี ได้แก่ โรคโลหิตเป็นพิษ โดยมีอัตราตายอยู่ที่ 125.6 ต่อแสนประชากร พบในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว รองลงมา คือ โรคมะเร็ง อัตราตาย 120 ต่อแสนประชากร เป็นมะเร็งตับมากที่สุด ตามมาด้วย มะเร็งปอดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง วันนี้จึงได้จัดคลินิกเฉพาะทางที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพสำคัญในพื้นที่ให้กับประชาชน ซึ่งได้ให้บริการก่อนวันงานไปแล้วกว่า 23,000 คน และมารับบริการในวันนี้อีกประมาณ 2,000 คน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าบริการคลินิกเฉพาะทางได้ประมาณ 650 - 800 บาทต่อคน คิดเป็นมูลค่าราว 1,300,000 – 1,600,000 บาท
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การดำเนินงานในวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อสม. และจิตอาสา จัดบริการคลินิกคัดกรองมะเร็งตับมะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งเต้านม, คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ, ทันตกรรม, กระดูกและข้อ, แพทย์แผนไทย, การแพทย์ทางเลือกฝังเข็ม, สุขภาพจิต, กายภาพบำบัด,คัดกรองพัฒนาการเด็ก, รับบริจาคโลหิต, ตรวจสุขภาพทั่วไป, ตรวจสุขภาพพระสงฆ์, ตรวจคัดกรองวัณโรคและมะเร็งปอด, คลินิกร้านยา, โรคจากการทำงาน, ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่, ชีวาภิบาล, คัดกรองผู้สัมผัสสารเคมีเกษตร, รับบริจาคอวัยวะ, ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ECHO) และคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 คลินิก


23 มิถุนายน 2567