'สมศักดิ์' แจง 2 แนวทางช่วยแก้หนี้ กยศ. ให้บุคลากร สธ.ทั่วประเทศ หลังพบบุคลากรเป็นหนี้ กยศ. 3.5 หมื่นราย ผิดนัดชำระ 5,702 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจง 2 แนวทางในการแก้หนี้ กยศ. ของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ หลังพบบุคลากรเป็นหนี้ กยศ. 3.5 หมื่นราย ผิดนัดชำระ 5,702 ราย เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน พักเบี้ยปรับ 100% หากจ่ายครบ ส่วนกลุ่มชำระปกติจะคำนวณยอดหนี้ใหม่ หากชำระเกิน 150%ของเงินต้น ให้หยุดจ่ายได้ คาด 6% ปิดหนี้ได้ทันที
วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนแผนความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการเงิน พร้อมมอบนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากร ตามนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ สอดรับกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข คือ หนี้ กยศ. โดยมีประมาณ 35,472 คน ซึ่งบางส่วนมีโอกาสถูกฟ้องร้องได้ จึงได้หารือกับ กยศ. เพื่อวางแนวทางให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มค้างชำระหนี้ 5,702 คน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยวันที่ 6-7 กรกฎาคม นี้ จะจัดมหกรรมความสุขทางการเงิน เน้นการแก้หนี้อย่างครอบคลุม ยั่งยืนและครบวงจร ให้กับชาวสาธารณสุขทุกคน


นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้จึงมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ปัญหาและเร่งรัดปิดหนี้ ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีการปรับลำดับการหักเงินใหม่ จากเดิมเป็นเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น มาเป็นหักจ่ายเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ, สามารถผ่อนชำระได้ทั้งรายปี รายไตรมาสและรายเดือน, ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี
นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาภาระหนี้สินส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤต ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งบางรายที่แก้หนี้ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะไม่รู้ช่องทางการช่วยเหลือ ตนจึงพร้อมอาสาเป็นทีมหลังบ้านหาแนวทางดูแลรักษาสุขภาพทางเงินให้กับบุคลากรสาธารณสุข


ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า การปรับโครงสร้าง/แปลงหนี้ของบุคลากรสาธารณสุข จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1.กลุ่มลูกหนี้ที่ชำระปกติ จะคำนวณยอดหนี้ใหม่ภายใน 6 เดือน หากชำระหนี้เกิน 150% ของเงินต้นแล้ว สามารถหยุดจ่ายได้ทันที เช่น เงินต้น 1 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 1.5 แสนบาท เป็นต้น ซึ่งจะทำให้หลายคนมีแนวโน้มชำระหนี้ครบแล้ว 2.กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระ/ผิดนัด จะปรับโครงสร้างหนี้ปลดภาระผู้ค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามอัตราใหม่ โดยจะพักเบี้ยปรับไว้ก่อน เมื่อชำระงวดสุดท้ายเสร็จสิ้น จะลดเบี้ยปรับ 100% สามารถผ่อนชำระรายเดือนได้สูงสุด 15 ปี โดยมีเงื่อนไขคือ ชำระทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดสุดท้ายอายุไม่เกิน 65 ปี แต่หากผิดนัดสะสม 6 งวด จะสิ้นสุดสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เงินเบี้ยปรับ ที่พักไว้จะกลับคืนมาและถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดีต่อไป ซึ่งคาดว่าบุคลากรที่ทำการปรับยอดหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะสามารถปิดหนี้ได้ถึง 6% ของยอดลูกหนี้ทั้งหมด


ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารชี้แจงการขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) แก่ผู้บริหารและบุคลากร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านระบบทางไกลและถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊คกระทรวง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างสอดคล้องกันทุกระดับ เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และบรรลุผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก กยศ. กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมบังคับคดี) ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์


26 มิถุนายน 2567