บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอการบริหารการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน ปีงบประมาณ 2567 “ให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการในอัตรา 7,000 บาท/adjRW”
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธาน ได้พิจารณาและเห็นชอบ “ให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการ ในอัตรา 7,000 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่าย”
ทั้งนี้ ด้วยในปีงบประมาณ 2567 มีการใช้บริการผู้ป่วยใน (IP) เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้งบประมาณที่ได้รับ 40,269 ล้านบาท ไม่เพียงพอในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – 15 ส.ค. 2567 มีการจัดสรรเงินค่าบริการผู้ป่วยในไปแล้ว 41,355 ล้านบาท ทำให้งบในส่วนนี้ติดลบ 1,086 ล้านบาท รวมถึงไม่เพียงพอสำหรับจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการหลังวันที่ 15 – 29 ส.ค. 2567 ซึ่งมีหน่วยบริการส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,731 ล้านบาท
ทั้งนี้ สปสช. ได้มีการเสนอเรื่องเพื่อพิจารณากรณีผลงานบริการมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณ ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 โดยในส่วนค่าบริการผู้ป่วยในมีการเห็นชอบให้ปรับอัตราจ่ายจาก 8,350 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) ลงมาอยู่ที่ 7,000 บาท/AdjRW ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบในหลักการให้ สปสช. ใช้เงินกันระดับประเทศกรณีมีงบประมาณเหลือหลังจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบ DRGs ฉบับที่ 6 ที่มีคงเหลืออยู่ที่ 1,217 ล้านบาท มาสนับสนุนการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน
นพ.การุณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ ในการประชุมบอร์ดฯ ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการ ในอัตรา 7,000บาท/AdjRA ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่าย หากงบประมาณที่นำใช้จ่ายเพิ่มเติมข้างต้นหมดลง
ส่วนแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยในจากนี้ไป มี 2 แนวทาง คือ 1. การปรับเกลี่ยงบจากรายการหรือประเภทบริการอื่นและนำมาจ่ายให้ก่อน หรือ 2. รองบกลางจำนวน 7,100 ล้านบาท ตามที่ท่าน รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งหากได้งบส่วนนี้มาและงบส่วนอื่นๆ ไม่มีปัญหาแล้ว ก็อาจพิจารณานำงบส่วนนี้มาจ่ายชดเชยเป็นค่าบริการผู้ป่วยในเพิ่มเติมต่อไป
“ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - ส.ค. 2567 ใน 8 เดือนแรกอัตราจ่ายอยู่ที่ 8,350/adj.RW มีเพียง 3 เดือนสุดท้ายที่จ่าย 7,000 บาท/adjRW และถ้าหากจะหาเงินมาเติมเพื่อให้ 3 เดือนนี้ครบ 8,350/adjRW ต้องใช้เงินอีก 2,285 ล้านบาท แต่ในวันนี้ต้องตกลงกันก่อนว่าที่จะจ่ายให้อย่าลงต่ำกว่า 7,000 บาท/adjRW ก่อน ส่วนหากมีเงินมาเติมหรือส่วนอื่นๆ ก็มาดูกันอีกทีหนึ่ง” ผู้ทรงคุณวุฒิ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าว