รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ประสบอุทกภัย ดินโคลนถล่ม จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย กำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ให้การช่วยเหลือดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมแผนสนับสนุนทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์พร้อมลงพื้นที่เมื่อได้รับการร้องขอ ขณะที่ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เตรียมชุด V clean ทำน้ำสะอาดและกำจัดเชื้อโรค 600 ชุด และ EM ball อีก 3,000 ลูก รองรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง
วันนี้ (11 กันยายน 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ อ.แม่อาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และที่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและได้กำชับให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าดูแลและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงดูแลบุคลากรสาธารณสุขที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนสนับสนุนทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Response Team : MERT) ไว้แล้ว สามารถลงพื้นที่ได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอ โดยในระยะเร่งด่วน จะส่งทีม MERT จากพิษณุโลก เป็นแม่ข่ายนำทีม และทีม Mini MERT ของเขตสุขภาพที่ 2 เป็นลูกข่าย ซึ่งอยู่ใกล้สุดลงพื้นที่ ระยะที่ 2 สนับสนุนทีม MERT จากสระบุรี เป็นแม่ข่าย และทีม Mini MERT เขตสุขภาพที่ 4 เป็นลูกข่าย ส่วนระยะที่ 3 สนับสนุนทีม MERT จากฝั่งอีสานลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลแม่สาย ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงเทศบาลแม่สายและวัดพรหมวิหาร ซึ่งมีผู้ประสบภัย 71 คน ให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งทีมดูแลต่อเนื่อง (COC) และ MCCAT ประสานงานกับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบเหตุเพื่อติดตามอาการและวางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยได้นำส่งผู้ป่วยติดเตียงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับผลกระทบเรื่องบ้านเรือนและการเดินทาง ประมาณ 20 ราย ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วเช่นกัน ส่วนโรงพยาบาลฝาง ซึ่งอยู่ในเขตน้ำท่วมขัง ขณะนี้ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ได้วางแผนสำรองน้ำไว้เพื่อให้ใช้ได้ถึง 48 ชั่วโมง และวางแผนหาแหล่งน้ำอื่นสำรองหากประปาอำเภอฝางต้องหยุดจ่ายน้ำ
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ยังได้สำรองชุด V clean สำหรับทำน้ำสะอาดและกำจัดเชื้อโรค 200 ชุด พร้อมส่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่อุทกภัย และเตรียมเพิ่มไว้อีก 400 ชุด รวมทั้งกำลังผลิต EM ball อีก 3,000 ลูก เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมขังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด
11 กันยายน 2567