เชื้อรา...ปัญหาของตกขาวคันในสตรี

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ตกขาวนับเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสตรี เพราะนอกจากสร้างความเหนอะหนะแล้ว ยังนำมาซึ่งอาการคันที่ช่องคลอดด้วย คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าตกขาวมาจากไหน


ตกขาว เป็นกันทุกคนหรือ
          ผู้หญิงทุกคนต้องมีตกขาวครับ ช่วงเป็นเด็กอาจมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีประจำเดือน ตกขาวจะมากขึ้นและมีปริมาณที่พอเหมาะจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณลดลงจนแทบไม่มีอีกครั้ง
          ตกขาวที่ปกติ สร้างมาจากต่อมที่ปากช่องคลอดและปากมดลูก รวมทั้งยังสร้างมาจากผนังช่องคลอดด้วย ตกขาวจากแหล่งต่าง ๆ จะมารวมกันในช่องคลอดเพื่อทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น หล่อลื่นช่องคลอด ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม ฆ่าเชื้อโรคที่เข้าไปในช่องคลอด และปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอดให้สมดุล

เชื้อรา …ปัญหาของตกขาวคัน
          เชื้อรา คือ เชื้อโรคชนิดหนึ่ง มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Candida albicans เชื้อโรคตัวนี้อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วไป แต่ชอบสภาพสิ่งแวดล้อมที่ร้อนชื้นเป็นพิเศษ ช่องคลอดของคนเราเป็นอวัยวะที่ชื้นอยู่แล้วเพราะมีตกขาวอย่างที่ว่า ส่วนเรื่องร้อนนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย คือ
          • สภาพอากาศของบ้านเราที่ค่อนข้างร้อนจนถึงร้อนมาก
          • ใส่เสื้อผ้าที่อบมาก
          • สภาพร่างกายที่อ้วนมาก บางคนแค่ยืนเฉย ๆ ขาก็มาชนกันแล้ว ทำให้ช่องคลอดถูกอบอยู่ตลอดเวลา สภาพเหล่านี้แหละที่เชื้อราชอบมาก เหตุนี้จึงทำให้ผู้หญิงไทยเรามีการติดเชื้อราในช่องคลอดกันง่ายมาก บางทีอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ก็ยังเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้ ผิดกับผู้หญิงในเมืองหนาวที่มีการติดเชื้อราน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะรายที่เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานบางอย่าง เหล่านี้ทำให้เชื้อราชอบมากเช่นกัน

อาการติดเชื้อราในช่องคลอด
          มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่มีการติดเชื้อราโดยไม่มีอาการอะไรเลย ที่รู้ว่ามีเชื้อราก็เพราะเผอิญไปตรวจภายในด้วยเหตุอื่น เช่น ไปตรวจภายในประจำปีหรือตรวจเนื้องอกมดลูก ผู้หญิงกลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอะไรก็ได้ เพราะเชื้อราที่ไม่ก่ออาการพวกนี้ ส่วนมากก็จะถูกตกขาวขับทิ้งออกไปจากร่างกายได้เอง แต่มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่เมื่อได้รับเชื้อราเข้าไปในช่องคลอด มันจะเจริญเติบโตต่อไป ในระยะแรกจะมีรูปร่างคล้ายดอกเห็ด (blastospore) ซึ่งยังไม่ทำให้เกิดอาการอะไร แต่ถ้าไม่ได้รับยารักษา เชื้อราจะเจริญต่อไปกลายรูปร่างเป็นสายยาว ๆ (mycelia) ซึ่งสามารถแทรกเข้าไปในผนังช่องคลอดได้ ถึงขั้นนี้จะเริ่มมีอาการคัน บางคนอาจทนเอาเพราะอายที่จะไปตรวจภายใน แต่พอทิ้งไว้ไม่นานอาการคันกลับมากขึ้นจนทนไม่ไหว เลยเลิกอายรีบไปหาหมอเพื่อตรวจภายในก็มี นอกจากคันแล้ว ลักษณะของตกขาวที่มีก็จะเปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยเป็นมูกใส ๆ หรือขาวขุ่น ๆ ก็จะกลายเป็นคล้ายนมที่เด็กอวกออกมา (curd) แต่ของบางคนมีลักษณะคล้ายแป้งก็มี

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเชื้อราในช่องคลอด
          แค่เอาตกขาวที่มีเชื้อรามาส่องกล้องจุลทรรศน์ดูก็บอกได้แล้ว สำหรับคุณหมอที่ผ่านการตรวจภายในผู้หญิงเป็นเวลานาน ๆ ส่วนใหญ่แค่ดูตกขาวโดยไม่ต้องส่องกล้องก็บอกได้ว่าเป็นเชื้อรา

รักษาอย่างไรดี
          การติดเชื้อราในช่องคลอดสามารถรักษาหายได้ด้วยยา แต่ยานั้นมีทั้งกิน เหน็บช่องคลอด และชนิดครีมทาในช่องคลอด ซึ่งทุกชนิดยังแบ่งย่อยออกไปอีก เช่น ยาเหน็บอาจมีชนิดเหน็บครั้งเดียวและเม็ดเดียวเลิก หรือเหน็บวันละเม็ดแต่ต้องเหน็บ 3 - 5 วัน เป็นต้น จึงขอเตือนว่า การจะใช้ยาอย่างไรดี ควรปรึกษาคุณหมอที่รักษาดีกว่า ขืนไปกินหรือเหน็บยามั่วไปเรื่อยอาจทำให้ไม่หายและอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาได้

โรคนี้มีอันตรายไหม
          “โรคนี้มีอันตรายไหม” เป็นคำถามยอดฮิต บางคนกลัวว่าถ้าเป็นตกขาวบ่อย ๆ จะทำให้เป็นมะเร็ง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์กลัวว่าจะทำให้ลูกพิการ ไม่เป็นอย่างที่คิดครับ โรคนี้ไม่มีอันตรายเช่นนั้น เพียงแต่ทำให้คุณทรมานจากอาการคันเท่านั้นเอง ยิ่งถ้าไปเกามันมาก ๆ อาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมา ก็ยิ่งทรมานเพิ่มขึ้นอีก

ป้องกันไม่ให้เป็นได้ไหม
          อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เชื้อราชอบอากาศร้อนชื้น ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นโรคนี้ ก็อย่าสร้างสภาพแวดล้อมของร่างกายให้เชื้อรามีความรักใคร่ชอบพอจนอยากอยู่ด้วยก็แล้วกัน เช่น
          • อย่าใส่เสื้อผ้าที่คับ อึดอัด
          • อย่าปล่อยให้บริเวณช่องคลอดชื้นแฉะ
          • เวลารู้สึกร้อนหรือเหนอะหนะบริเวณปากช่องคลอด ควรทำความสะอาดเช็ดให้แห้ง
          • อย่าเอาผ้าอนามัยแผ่นเล็ก ๆ เช่น แคร์ฟรีปิดปากช่องคลอด เพราะจะยิ่งอบให้มันร้อนมากขึ้น
          • และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ อย่าอ้วน เป็นข้อแนะนำที่พูดง่าย แต่ทำยากใช่ไหมครับ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :  
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=719