โรคน้ำหนีบ หรือ Decompression sickness เป็นโรคที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่มีความสำคัญมากในกลุ่มนักดำน้ำ โดยเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะที่ความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แก๊สเฉื่อยในร่างกายจะรวมตัวกันขนาดใหญ่ทำให้เกิดฟองก๊าซ (gas bubble) ไปอุดตันภายในกระแสเลือด หรือไปซึมเข้าเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
ในกรณีของนักดำน้ำ โดยเฉพาะการดำน้ำลึก (self-contained underwater breathing apparatus; SCUBA) ถ้านักดำน้ำดำน้ำที่ความลึกประมาณ 30 ฟุต ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ความกดอากาศภายนอกสูง ก๊าซเฉื่อยภายในร่างกาย โดยเฉพาะไนโตรเจนจะก่อตัวใหญ่ขึ้น ร่างกายจะปรับสมดุลด้วยการพยายามขับก๊าซเฉื่อยออกด้วยการหายใจ ซึ่งถ้าหากนักดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ก๊าซเฉื่อยดังกล่าวก็จะถูกขับออกจากร่างกายไม่ทัน ก๊าซที่รวมตัวกันจึงมีขนาดใหญ่และส่งผลเสียต่อร่างกายดังที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้นักดำน้ำจึงมักมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า dive computer ที่บอกความลึก อุณหภูมิ ระยะเวลาการดำน้ำที่เหลือในแต่ละรอบการดำน้ำนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคน้ำหนีบ
โรคน้ำหนีบพบค่อนข้างน้อยประมาณ 3 ราย ต่อการดำน้ำ 10,000 ครั้ง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะหากมีความรู้ความเข้าใจสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเกิดโรคดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ในบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคน้ำหนีบมีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคอ้วน (high body fat content) สภาพแวดล้อมเย็น ภาวะขาดน้ำ (dehydration) และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บางการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายก่อนดำน้ำลึกช่วยป้องกันการเกิดโรคน้ำหนีบ แต่ในทางกลับกันหากออกกำลังกายหลังจากดำน้ำลึกจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคน้ำหนีบได้
ประเภทของโรคน้ำหนีบ
แบ่งตามความรุนแรงของโรคและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ
1. โรคน้ำหนีบชนิดที่ 1 อาการของโรคจะแสดงที่ผิวหนัง ระบบกระดูกและข้อ และระบบต่อมน้ำเหลือง อาการจะไม่รุนแรง
2. โรคน้ำหนีบชนิดที่ 2 อาการของโรคจะมีผลกระทบกับระบบประสาท โดยเมื่อฟองก๊าซมีขนาดใหญ่และเข้าไปที่ระบบประสาทและไขสันหลัง ทำให้มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ
- ตุ่ม/ผื่นแดงบริเวณ ใบหน้า ผิวหนัง หรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดตามข้อ โดยเฉพาะที่หัวไหล่
- แขนขาอ่อนแรง
- หายใจเหนื่อย
- แน่นหน้าอก
การช่วยเหลือเบื้องต้น
รีบนำผู้ป่วยออกจากที่อันตราย จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายหรือตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองก๊าซไหลจากระบบหลอดเลือดดำเข้าระบบหลอดเลือดแดง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้ป่วย และรีบโทร 1669
การรักษา
- ใช้ออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงในการรักษา (hyperbaric oxygen therapy) เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ให้สารน้ำชนิด isotonic solution เพื่อลดภาวะขาดน้ำ
- สวนปัสสาวะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะเองได้
การดูแลตนเอง
- ในกรณีที่ต้องอยู่ในภาวะที่มีความกดอากาศสูง เช่น ทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน ดำน้ำลึก ควรศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานหรือการดำน้ำให้ละเอียด
- มีอุปกรณ์เตือนที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับภาวะโรคน้ำหนีบ
- เคลื่อนจากพื้นที่ที่ความกดอากาศสูงไปต่ำอย่างช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสมดุล
- ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังดำน้ำลึก 24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินภายใน 24 ชั่วโมงหลังดำน้ำลึก
- หากมีความผิดปกติควรไปโรงพยาบาลทันที
สุดท้ายนี้หากรู้สึกมีอาการผิดปกติ ไม่แน่ใจภายหลังจากการดำน้ำควรรีบพามาโรงพยาบาล รวมทั้งการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”
เอกสารอ้างอิง
1. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโรคจากการดำน้ำและสงสัยว่าเป็น Decompression Illness [cited 2022 May 19]. Available from: https://www.vachiraphuket.go.th/department/hyperbaric-medicine/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%89/
2. สุภาพร โอภาสานนท์. การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen (HBO) Therapy) [cited 2022 May 19]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=917
3. Cooper JS, Hanson KC. Decompression Sickness. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 [cited 2022 May 19]. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537264/
4. Phatak U, David E, Kulkarni P. Decompression syndrome (Caisson disease) in an Indian diver. Ann Indian Acad Neurol. 2010;13(3):202.
5. Pollock NW, Buteau D. Updates in Decompression Illness. Emergency Medicine Clinics of North America. 2017 May;35(2):301–19.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/600/