วัณโรคต่อมน้ำเหลือง อาการ การรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

วัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือวัณโรคที่อยู่ใน “ต่อมน้ำเหลือง” เป็นชนิดของวัณโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นหู และมักจะเคยได้ยินแต่วัณโรคปอดกันเป็นหลัก
          แต่นี่คือหนึ่งในโรคที่พบได้มากและเป็นอันตราย ซึ่งเป็นลักษณะของวัณโรคที่อยู่นอกปอด สามารถพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในทุกช่วงอายุ   
          กรณีที่แพทย์พบว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ก็จะมีการตรวจเช็กปอดด้วยว่ามีการติดเชื้อร่วมกันหรือไม่ ทั้งนี้ อาการของโรคชนิดนี้จะแตกต่างจากวัณโรคปอดมากน้อยแค่ไหน  และเราจะรับมือกันอย่างไรเมื่อติดเชื้อขึ้นมา ลองมาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น จะได้รีบทำการรักษาได้ทันก่อนจะลุกลามมากขึ้นค่ะ

โรควัณโรคต่อมน้ำเหลือง คืออะไร ?
          โรควัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือวัณโรคต่อมน้ำเหลืองที่คอ ถือว่าเป็นวัณโรคชนิดหนึ่งที่อยู่ภายนอกปอด พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในชุมชนแออัด  สามารถเป็น ๆ หาย ๆ ชนิดเรื้อรังได้ แม้จะทำการรักษามาเป็นอย่างดีแล้ว หากผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่ดี อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
          อย่างไรก็ตาม การรักษาตัวเองให้เหมาะสม  รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นและกลับมาหายเป็นปกติได้
          ส่วนใหญ่การเกิดวัณโรคจะมาจากการติดเชื้อหลายชนิด ผู้คนที่อยู่อาศัยในสภาพอากาศที่ไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการทำความสะอาดได้ไม่ถูกสุขลักษณะ  อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ โดยมีเชื้อที่เรียกว่า “tuberculosis“ เป็นตัวการทำให้เกิด เป็นเชื้อโรคที่ทนต่อสภาพแวดล้อมเกือบทุกชนิดได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะหนาว ร้อน หรืออากาศชื้น ก็สามารถแพร่กระจายและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วทีเดียว
          ลักษณะของวัณโรคต่อมน้ำเหลือง คือ จะปรากฏอาการที่คอ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ ก่อนจะแพร่ขยายเชื้อลุกลามต่อไปยังขากรรไกร ไหปลาร้า  และรักแร้ ทำให้เกิดอาการบวมโตของต่อมน้ำเหลือง มองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ช่วงแรกผู้ป่วยอาจคิดว่าเป็นอาการของฝี   แต่ในช่วงระยะแรกที่เริ่มบวมจะไม่ค่อยมีอาการเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยปล่อยปละละเลย จากนั้นก้อนดังกล่าวก็จะขยายใหญ่มากขึ้น   สามารถแตกเป็นหนอง กลายเป็นแผลเรื้อรังที่ทำการรักษาได้ยุ่งยากมากขึ้น การลุกลามของโรคหลังจากที่มีการแตกออกมา จะทำให้ติดเชื้อรุนแรง อักเสบ  และส่งผลไปยังหลอดลมและปอด การทำงานของปอดผิดปกติ มีขนาดเล็กลง ซึ่งด้วยการเริ่มต้นเหมือนกับเม็ดฝี จึงมักถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “ฝีประคำร้อย” (ก้อนบวมที่ซอกคอ)   โดยจะพบเพียงข้างใดข้างหนึ่งของต่อมน้ำเหลืองเท่านั้น ด้วยการเกาะตัวเป็นกลุ่ม มีความอ่อนนุ่มคล้ายฝี เป็นเหตุให้ส่วนมากกว่าผู้ป่วยจะตัดสินใจมาพบแพทย์ก็ลุกลามเข้าสู่ปอดไปแล้ว

อาการวัณโรคต่อมน้ำเหลืองเป็นอย่างไร?
          อาการของวัณโรคต่อมน้ำเหลือง ในช่วงระยะแรกเริ่มมักจะไม่ค่อยมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องสังเกตตัวเองให้ดี ดังนี้คือ
          1.วัณโรคต่อมน้ำเหลืองจะพบได้มากในตำแหน่งของขั้วปอด ซึ่งจะไม่ค่อยแสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็นนักหากไม่รุนแรงถึงขั้นที่ต่อมน้ำเหลืองขยายตัวมากจนไปกดการทำงานของหลอดลม
          2.หากพบฝีที่บริเวณไหปลาร้าหรือคอ ขากรรไกรมีอาการบวมโต จนกระทั่งแตกเป็นหนองไม่ยุบ แต่กลับกระจายตัวมากขึ้นไปยังรักแร้และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
         3.มีอาการเจ็บคอ ฟันผุ พบแผลตามใบหน้า ในหู ศีรษะ ปวดฟัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เนื่องจากการลุกลามของเชื้อจนทำให้เกิดการอักเสบ
          เชื้อวัณโรคชนิดนี้ จะมีระยะการฟักตัวที่ไม่แน่นอน แต่โดยทั่วไปตั้งแต่ได้รับเชื้อวันแรกจะยังไม่ปรากฏอาการใด ๆ ให้เห็น   แต่จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตราว 4 สัปดาห์ขึ้นไป จนเชื้อเริ่มมีปริมาณมากขึ้น จะเริ่มเกิดอาการของโรคภายใน 6-12 เดือน   แต่หากเป็นคนที่มีความไวต่อโรคหรือระบบภูมิต้านทาน เช่น เด็ก, คนชรา, คนป่วยที่มีโรคประจำตัว, คนที่ได้รับเชื้อในปริมาณมาก และคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นต้น อาการจะปรากฏขึ้นเร็วเป็นเท่าตัว

วัณโรคต่อมน้ำเหลืองติดต่อไหม ?
          ผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าวัณโรคต่อมน้ำเหลืองเป็นคนละจุดกับวัณโรคปอด เนื่องจากเป็นส่วนที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังของเรา    จึงคิดว่าไม่ทำให้ติดต่อได้ จริง ๆ แล้วการติดต่อสามารถเกิดได้เช่นเดียวกันกับวัณโรคปอด ผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก คือ
          1.การติดต่อผ่านทางปาก จะเป็นการติดต่อที่เกิดจากการใช้แก้วร่วมกัน การดื่มน้ำร่วมกัน ทำให้เชื้อวัณโรคปะปนเข้าไปด้วย
          2.การติดต่อผ่านทางจมูก ซึ่งส่วนมากจะเป็นการติดเชื้อของวัณโรคปอดเสียส่วนใหญ่ แต่หากพบเชื้อวัณโรคต่อมน้ำเหลืองก็สามารถทำให้เกิดการติดต่อผ่านทางนี้ได้เช่นเดียวกัน คือ ผ่านทางน้ำลาย เสมหะ น้ำมูก การไอและจามรดกัน
          3.การติดต่อผ่านทางผิวหนัง จะพบเชื้อเข้าสู่บาดแผลหรือส่วนที่เป็นรอยถลอก การติดต่อทางตรง คือ การสัมผัสกับตัวผู้ป่วย ส่วนการติดต่อทางอ้อม คือ การใช้ภาชนะร่วมกัน มีการฆ่าเชื้อไม่สะอาด หรือการใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการใช้เครื่องใช้อื่นร่วมกันด้วย
          4.มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีเหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน
          5.อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
          6.ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ หากต่อมน้ำเหลืองโตกดหลอดลม จะทำให้รู้สึกหายใจลำบาก
          7.ต่อมทอนซิลโต
          8.คันตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลือง
          การรักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะใช้วิธีให้ยาฆ่าเชื้อเป็นหลัก โดยผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน  โดยเบื้องต้นแพทย์จะเจาะเอาน้ำเหลืองที่คอไปตรวจก่อนเพื่อหาระยะความรุนแรงของเชื้อว่ามีมากน้อยแค่ไหน   มีการนำเอาอุจจาระ ปัสสาวะ และเลือดไปทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีการนัด อีกทั้งยังมีการนับจำนวนครั้งในการปัสสาวะและอุจจาระในแต่ละวันด้วย  ซึ่งผู้ป่วยจะต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวลงไปทุกครั้ง
          ในระหว่างการรักษาจะต้องแยกตัวออกจากคนอื่นที่ไม่มีเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายอาศัยอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ที่เสี่ยงจะทำให้เชื้อกระจายไปติดต่อกับผู้อื่นได้
          ยาที่ใช้ในการรักษามักจะใช้ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป คือ ยาหลัก 1 ชนิด และยาอื่น ๆ เป็นตัวช่วยด้วยอีก 3-4 อย่าง เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดในการรักษา จะมีการรักษาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป บางรายอาจใช้เวลามากกว่า 8 เดือน หรือเป็นปี ๆ เมื่อหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
          แม้จะรู้สึกว่าร่างกายหายดีแล้วก็ยังคงต้องรับประทานยาต่อเนื่อง โดยห้ามหยุดยาเอง ผู้ป่วยที่ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด  จะช่วยให้สามารถรักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลืองให้สามารถหายขาดได้ และไม่เกิดภาวะเชื้อดื้อยา จนทำให้ต้องเข้ามารับการรักษาใหม่ที่ต้องใช้ยาแรงมากขึ้นอีกด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :  https:// mahosot.com › วัณโรคต่อมน้ำเหลือง