ไข้หวัดใหญ่ (INFLUENZA)

ไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกช่วงอายุซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดเวลาการหยุดงาน
          ไข้หวัดทั่วไป เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจลามลงปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อย่างเฉียบพลัน

การติดเชื้อ ติดต่อได้โดย
          - เชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจ ได้รับน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
          - การได้สัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น
          - การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเข้าปาก

อาการของโรค
          ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
          1. ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
          2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
          3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
          4. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
          5. ไข้สูง 39-40 องศา
          6. เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใส ๆ ไหล
          7. ไอแห้ง ๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
          8. อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่  โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์

สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น
          - พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
          - ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
          - ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
          - โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ในรายที่เสียชีวิตมักมีอาการปอดบวม และโรคหัวใจ

ระยะติดต่อ
          - ระยะเวลาการติดต่อของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากคนอื่น ๆ คือ 1 วัน ก่อนเกิดอาการ และ 5 วัน หลังมีอาการ
          - ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วัน ก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
          - ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้ปอดบวม มีฝีในปอด มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
          - ไข้หวัดในหญิงตั้งครรภ์ มักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจทำให้แท้งบุตรได้

เมื่อไรที่ควรมาพบแพทย์
          - มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
          - ให้ยาลดไข้แล้วยังเกิน 5 องศา
          - หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
          - มีอาการมากกว่า 7 วัน
          - ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
          - เด็กดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่พอ
          - เด็กซึมลง ไม่เล่น
          - เด็กไข้ลดลง แต่หายใจไม่ออก

ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรมาพบแพทย์
          - หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
          - มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง
          - เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
          - หน้ามืด เป็นลม สับสน หน้ามืด
          - อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้

การป้องกันไข้หวัดใหญ่
          ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วยให้พักที่บ้าน เวลาไอ หรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
          การป้องกันที่ดี คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีนประเภทไข่ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้ การฉีด จะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน คือ
          - ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
          - ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ ผู้เป็นเบาหวาน
          - หญิงตั้งครรภ์ 3เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
          - ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
          - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
          - สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
          - นักเรียนที่อยู่ร่วมกัน
          - ผู้ที่จะไปเที่ยว หรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
          - ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ และต้องได้รับวัคซีน

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรทราบ
          เจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วไป มีไข้ ปวดตามตัว และหลังจากการฉีดยา  6-12 ชั่วโมง และอยู่ได้นาน 1-2 วัน บางรายอาจมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.paolohospital.com/th