สำหรับผู้ป่วยที่รอดจากโรคมะเร็งเต้านมซึ่งต่อสู้กับปัญหาการนอนหลับ การศึกษาครั้งใหม่ แสดงว่า ไทเก็กอาจช่วยสงบค่ำคืนที่ไม่ได้พักผ่อนได้
คณะผู้วิจัย พบว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวช้า ๆ ของการทำสมาธิให้ผลดีเท่า ๆ กับการบำบัดด้วยการพูดคุย (talk therapy) และมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ยาในการรักษาอาการนอนไม่หลับและลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับการไม่ได้นอน ซึ่งรวมไปถึงโรคซึมเศร้า อาการเหนื่อยล้า และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงด้วย
“ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมมักจะไม่กลับมาหาแพทย์แค่ด้วยอาการนอนไม่หลับ พวกเขานอนไม่หลับ เหนื่อยล้า และซึมเศร้า” Dr.Michael Irwin ผู้นำการศึกษา กล่าว เขาเป็นผู้อำนวยการ Cousins Center for Psychoneuroimmunology แห่ง UCLA ที่ Semel Institute for Neuroscience and Human Behavior ในลอสแอนเจลิส
“และการให้การบำบัดด้วยไทเก็กนี้ส่งผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกัน ให้ประโยชน์ที่แข็งแกร่งอย่างเดียวกับการรักษาแบบมาตรฐานสูงสุดสำหรับโรคนอนไม่หลับ (การบำบัดด้วยการพูดคุย)” Dr.Irwin กล่าวเพิ่มเติมในเอกสารเผยแพร่ข่าวของ UCLA
การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ไทเก็กสามารถช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ การออกกำลังกายแบบนี้ยังสามารถชะลอการหายใจและลดการอักเสบได้ ผู้เขียนรายงานการศึกษา กล่าว
เพื่อศึกษาวิจัยผลของไทเก็กที่มีต่อการนอน คณะผู้วิจัยได้ให้ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 90 คน ซึ่งมีอาการนอนไม่หลับและอาการของโรคซึมเศร้าและการง่วงเวลากลางวันเข้าชั้นบำบัดพฤติกรรม....ความรู้ความเข้าใจรายสัปดาห์ (การบำบัดด้วยการพูดคุย) หรือเข้าชั้นไทเก็กแบบตะวันตกรายสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือน
ผู้เข้าร่วมการศึกษามีอายุตั้งแต่ 42 ถึง 83 ปี รายงานอาการนอนไม่หลับของตนและอาการอื่น ๆ เป็นระยะ ๆ สม่ำเสมอนาน 12 เดือน
ผลการค้นพบ แสดงว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งในทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเวลา 15 เดือนต่อมา
ปัจจุบันถือว่าการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) เป็นรูปแบบการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคนอนไม่หลับ ตามรายงานของ American Academy of Sleep Medicine ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะค้นหาและเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เป็นโทษ ซึ่งขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยได้นอนอย่างเพียงพอ คณะผู้วิจัย อธิบาย
แต่รูปแบบของการบำบัดด้วยการพูดคุยอาจมีค่าใช้จ่ายสูงไปสำหรับผู้ป่วยบางราย ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับรายอื่น ๆ อาจมีปัญหาในการเสาะหาผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ซึ่งสามารถช่วยเหลือเขาได้ ผู้เขียนรายงานการศึกษา กล่าวเพิ่มเติม
“เนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าว เราจำเป็นต้องมีการบำบัดดูแลโดยอาศัยฐานชุมชนอย่างไทเก็ก” Dr.Irwin ซึ่งเป็นสมาชิกของ UCLA Jonssan Comprehensive Cancer Center กล่าว
ผลการศึกษาครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ใน Journal of Clinical Oncology
ไทเก็กช่วยอาการนอนไม่หลับในผู้รอดจากมะเร็งเต้านม
Healthday News