พังผืดโดยกำเนิดก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ เป็นองค์ประกอบในทุกส่วนของร่างกาย และร่างกายใช้พังผืดในการซ่อมสร้างต่าง ๆ
พังผืด เป็นคำกว้าง ๆ ที่แพทย์ชอบใช้ในการอธิบายกับผู้ป่วย เวลาที่ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่าง ๆ เช่น ชาปลายนิ้ว นิ้วล็อก ข้อนิ้วติด ฝืด หรือ งอ-เหยียดได้ไม่ดี แพทย์มักอธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นเพราะพังผืดทับหรือรัดเส้นประสาท พังผืดยึดข้อ เป็นต้น
พังผืด ตรงกับภาษาอังกฤษในทางการแพทย์ คือ Fibrous tissue หรือ Connective tissue ซึ่งประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน (Collagen fibers) ซึ่งถูกสร้างภายในเซลล์ของร่างกาย แล้วเซลล์จะปล่อยออกมาภายนอกเซลล์ หลังจากนั้นเส้นใยคอลลาเจน 3 เส้น จะเรียงต่อกันให้ยาวแล้วบิดเป็นเกลียวเหมือนเชือกปอ ซึ่งจะหดตัวและสร้างเป็นร่างแห ร่างแหเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หากไม่มีพังผืด (Fibrous หรือ connective tissue) ก็รวมตัวเป็นร่างกายไม่ได้
ฉะนั้น พังผืดโดยกำเนิดก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ เป็นองค์ประกอบในทุกส่วนของร่างกาย และร่างกายใช้พังผืดในการซ่อมสร้างต่าง ๆ เช่น เวลาเกิดมีดบาดผิวหนังเป็นบาดแผล ผิวหนังจะแยกออกจากกัน เซลล์ของร่างกายบริเวณนั้นจะสร้างเส้นใยคอลลาเจนออกมานอกเซลล์ ซึ่งรวมตัวกันเป็นพังผืดร่างแห ลำดับต่อไปก็จะมีการหดรั้งของร่างแหดึงรั้งผิวหนังให้เข้ามาใกล้กัน ทำให้แผลมีขนาดเล็กลง แล้วเซลล์ของผิวหนังบริเวณนั้นก็จะแบ่งตัวและคืบคลานเข้าไปคลุมบาดแผล นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พังผืดในบางกรณีก็เป็นประโยชน์ อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายเวลามีบาดแผลก็จะมีการสร้างพังผืดของคอลลาเจน ช่วยให้บาดแผลหาย
อย่างไรก็ตาม บางครั้งพังผืดก็ทำให้เกิดปัญหา หากมีการสร้างผิดที่ สร้างมากเกินไป หรือน้อยเกินไป กรณีบาดแผลโดนมีดบาด หากสร้างน้อยเกินไปแผลจะหายช้า ผิวหนังจะไม่ชนกันและเป็นแผลขนาดใหญ่ กรณีสร้างมากเกินไป จะเกิดเป็นแผลเป็นที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloid)
กรณีสร้างผิดที่ในที่ที่เราไม่ต้องการ ก็อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ แล้วแต่ตำแหน่งของพังผืดนั้น เช่น หากเกิดพังผืดมากเกินไปตรงปลอกรัดเอ็นและเส้นประสาทตรงฝ่ามือใกล้ข้อมือ ทำให้ปลอกหนาตัวมากขึ้นและหดรัด เส้นประสาทจะโดนรัด ทำให้เกิดอาการชาที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง หากหดรัดมากขึ้น จะทำให้กล้ามเนื้อหัวแม่มืออ่อนแรง ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Carpal Tunnel Syndrome (เส้นประสาทมีเดียนตรงข้อมือโดนรัด) หรือหากเกิดมากเกินไปตรงปลอกเอ็นหรือตัวเอ็น ก็จะทำให้เกิดอาการ “นิ้วล็อก” (Trigger Finger) หากเกิดบริเวณข้อ จะทำให้ข้องอ-เหยียดได้ไม่ตรง
โดยสรุปแล้ว พังผืดโดยธรรมชาติเป็นประโยชน์ แต่หากเกิดผิดที่ มากไป หรือน้อยไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหา
หากท่านเกิดปัญหาขึ้นกับมือและคิดว่าน่าจะเกิดจากพังผืด ไม่ว่าจะเป็นอาการชา* ปวด ข้อนิ้วติด การรักษาขึ้นกับสาเหตุ สามารถนัดปรึกษากับแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางมือได้ที่ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เบอร์โทร. 0 2090 3116
* หมายเหตุ อาการชาปลายนิ้วไม่จำเป็นต้องเกิดจากพังผืดอย่างเดียว อาจเกิดจากการมีก้อนไปเบียดเส้นประสาท เกิดจากปลายเส้นประสาทอักเสบ หรืออาจเกิดจากการพับงอของข้อมือขณะนอนหลับ การรักษาขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุ
ขอขอบคุณ : นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางด้านมือและจุลศัลยกรรม
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.medparkhospital.com/content/is-hand-fibrous-tissue-dangerous-and-does-it-need-surgery