ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของช่องท้อง มีสองข้าง คือซ้ายและขวา รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดง ยางประมาณ 10-13 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 300 กรัม มีต่อมหมวกไต (Adrenal gland) อยู่ด้านบนของไตทั้งสองข้าง มีชั้นไขมันสองชั้นห่อหุ้มอยู่ ภายในไตนั้นจะมี 2 ชั้น คือ ชั้นนอก เรียกว่า คอร์เทกซ์ (cortex) ส่วนนี้มีสีแดง เพราะมีโกบเมรูลัสอยู่ ขณะที่ชั้นใน จะเรียกว่า เมดูลลา (medulla) ส่วนนี้มีสีขาว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยท่อหน่วยไต ส่วนของเมดูลลาที่ยื่นเข้าไปจรดกับโพรงที่ติดกับหลอดไตเรียกว่า พาพิลลา (papilla) และเรียกโพรงนี้ว่า กรวยไต (pelvis)
มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง"โรคไต"
มีหลายเหตุและปัจจัยที่อาจทำให้ไตของเราป่วยได้ ซึ่งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ไว้ดังนี้
- กรรมพันธุ์ โรคไตบางชนิดเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) ที่มีทั้งแบบที่เกิดกับทารก ซึ่งมักจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่เกิด และแบบที่เกิดกับผู้ใหญ่ ที่จะพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม กรรมพันธุ์ไม่ใช่สาเหตุหลัก และผู้ป่วยโรคไตจากกรรมพันธุ์ก็มีน้อยมาก แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคไตขึ้นมา โอกาสที่เครือญาติพี่น้องจะเป็นด้วยก็มีสูงถึง 90% จึงควรไปตรวจสุขภาพกันยกครอบครัว
- โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะส่งผลกระทบต่อไตด้วย หากเป็นนาน ๆ ไตก็เสื่อมลง จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง ซึ่งเชื่อไหมว่าผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรัง ราว 30-50% ล้วนเกิดจากมีความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น และในทางตรงข้าม คนที่เป็นโรคไตบางชนิดก็อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมาเช่นกัน
- โรคเบาหวาน ถือเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายราว ๆ 30% เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมานานแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดของไต ทำให้ไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้ หากเป็นบ่อย ๆ นาน ๆ เข้า ก็ทำให้ไตอักเสบ ไตวาย แล้วยังมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาด้วย
- ความอ้วน เพราะคนอ้วนจะมีเมตาบอลิซึมสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดของเสียต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น ไต ที่เป็นอวัยวะกรองของเสียก็จะทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย
- อายุ เมื่อคนเราแก่ตัวขึ้น สังขารร่างกายก็ร่วงโรยไปตามวัย เช่นเดียวกับ ไต ที่จะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 35 ปี เท่ากับว่ายิ่งอายุมากขึ้น ไตก็จะยิ่งเสื่อมตามอายุลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชายที่มีโอกาสต่อมลูกหมากโตสูงขึ้น ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตัน ส่งผลกระทบต่อไตได้
- อาหาร อาหารหลายชนิดที่หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ จะยิ่งเป็นอันตรายต่อไต โดยเฉพาะอาหารรสเค็มจัดที่จะไปทำให้ความดันโลหิตสูง แล้วส่งผลกระทบต่อไปที่ไต รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีนที่มีงานวิจัยพบว่า เนื้อสัตว์ถือเป็นของเสียในร่างกาย หากทานเข้าไปมาก ๆ จะมีของเสียเหลือตกค้างในร่างกายมาก ทำให้ไตที่มีหน้าที่กรองของเสียทำงานหนักมากขึ้น แต่ถ้าเป็นโปรตีนจากเนื้อปลา หรือไข่ขาว นั้นสามารถทานได้ เพราะเป็นโปรตีนคุณภาพสูงและย่อยง่าย
- ยา ยาบางชนิดที่ไม่ส่งผลดีต่อไตนัก เช่น ยาแก้ข้อกระดูกอักเสบ (พวก NSAID) ที่ทำให้เกิดไตวายได้ รวมทั้งสารทึบรังสีบางชนิดที่ใช้ฉีดผู้ป่วยเวลาตรวจทางเอกซเรย์ก็มีผลให้ไตวายได้เช่นกัน ดังนั้น หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
- อาชีพและอุบัติเหตุ คนบางอาชีพมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น นักมวย ที่อาจถูกเตะต่อยบริเวณไต รวมทั้งคนที่ทำงานในโรงงาน ก็อาจได้รับสารพิษสะสมในไตมานาน
ปวดหลัง
ใครคือกลุ่มเสี่ยง?
1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
2. ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไต
3. ผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ น้อยกว่า 2,500 กรัม
4. ผู้ป่วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
5. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
6. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
7. ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในไต
8. ผู้ที่ได้รับสารพิษจากยาบางชนิด หรือสารแปลกปลอมอยู่เป็นประจำ หรือมากเกิน
9. ผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
10. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เซลล์ตัวเอง
สัญญาณว่าป่วยเป็น "โรคไต"
ได้รู้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคไตกันไปแล้ว คุณสุ่มเสี่ยงข้อไหนบ้างเอ่ย? หรือหากใครไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณรอดพ้นจากโรคนี้แล้วนะคะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารรสเค็มจัดที่ทำให้คุณมีสิทธิ์เผชิญหน้ากับโรคนี้ ว่าแล้วก็มาตรวจสอบสัญญาณบ่งชี้โรคไตกันหน่อยดีกว่า ว่าความผิดปกติของตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่
1.มีอาการบวมทั้งตัว
ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากจะมีอาการบวมตามตัว เกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และหน้า ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง โดยอาจรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น แต่ทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรค เพราะอาการบวมอาจไม่ได้เป็นโรคไตก็ได้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้น การตรวจปัสสาวะน่าจะได้ผลที่ชัดเจนที่สุด
2.เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด
ผู้ที่เป็นโรคไต ถ้าเป็นน้อย ๆ มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หากเป็นมาก ๆ ใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะเพิ่มอาการซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร
3.ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
ไต เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณช่วงหลังด้านล่างของเรา ดังนั้น หากไตเกิดความผิดปกติขึ้น เราอาจรู้สึกปวดหลัง บั้นเอวที่บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศได้ บางคนก็ถึงขั้นปวดกระดูกและข้อ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองก็ได้ แต่อาการปวดหลังก็สามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน จึงต้องตรวจสอบอาการอื่นควบคู่ ๆ ไปด้วย
ทั้งนี้ หากเรากดหลัง และทุบเบา ๆ แล้วมีอาการเจ็บ อาจแสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือไตอักเสบ ถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตอักเสบติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งก็มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรค SLE เป็นต้น
4.ปัสสาวะผิดปกติ
เนื่องจาก ไต อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับปัสสาวะ นั่นก็อาจหมายถึงไตทำงานผิดปกติได้ โดยเราสามารถสังเกตปัสสาวะได้ดังนี้
- ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ ทั้งนิ่ว เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือ เส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ แม้แต่มะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตเป็นถุงน้ำ ฯลฯ
- ปัสสาวะน้อยลง โดยปกติแล้วหากเราดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็ควรจะมากไปด้วย แต่หากใครปัสสาวะไม่ออกเลย อาจเป็นเพราะทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้น หรือการทำงานของไตเสียไป ลองทดสอบง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น แล้วสังเกตดูว่าปัสสาวะออกมากขึ้นหรือไม่ หากปัสสาวะยังน้อยอยู่ นั่นแสดงว่าไตเริ่มผิดปกติแล้ว
- ปัสสาวะบ่อย ความถี่ในการปัสสาวะของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดื่มน้ำ หรือการที่ร่างกายเสียน้ำไปทางอื่น ๆ เช่น เหงื่อ หรืออุจจาระ แต่หากวันดีคืนดี รู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 3-4 ครั้ง อาจต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไตก็ได้ เพราะกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซี.ซี. แต่ในคนที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีน้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงมักจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึก
แต่อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนส่วนใหญ่ไม่เกิดมีสาเหตุมาจากโรคไต เพราะมักจะเป็นอาการของโรคเบาหวาน เบาจืด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือการกินน้ำมากเกินไปมากกว่า แต่ก็ยังอาจเป็นอาการของโรคไตวายในระยะแรก ดังนั้น ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะหากมากกว่าวันละ 3 ลิตร หรือตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา อย่างไรก็ตามในส่วนการปัสสาวะตอนกลางวัน หลายคนรู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยเกินไป ซึ่งจริง ๆ อาจไม่ได้ป่วยโรคไต แต่เกิดจากความวิตกกังวลของตัวเองที่ไปกระตุ้นให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ มากกว่า
- ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฟองสีขาว ๆ ที่เราในปัสสาวะก็คือโปรตีนนั่นเอง ซึ่งก็มีกันทุกคน แต่หากใครมีฟองสีขาว ๆ มากผิดปกติ อาจสงสัยไว้ก่อนว่า เส้นเลือดฝอยในไตอาจอักเสบ ทำให้มีโปรตีนรั่วไหลออกมามากผิดปกติ แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็นโรคไต ต้องดูอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น หากปัสสาวะมีฟองมากแถมยังเป็นเลือด ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคไตก็ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจร่างกายโดยเร็ว
5.ความดันโลหิตสูงมาก ๆ
เคยได้ยินใช่ไหมว่าการกินอาหารรสเค็ม ๆ มาก ๆ จะทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ไม่เคยมีอาการอะไรมาก่อน แต่พอไปตรวจสุขภาพกลับเจอความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจอนุมานได้ว่า ไตของเรามีความผิดปกติขึ้นแล้ว ควรให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียดเพื่อเช็กว่าเป็นโรคไตด้วยหรือไม่
โรคไตวายเรื้อรังมีกี่ระยะ ?
โรคไตวายเรื้อรังจะแบ่งเป็น 5 ระยะ ตามระดับความรุนแรง คือ
โรคไตระยะที่ 1 : ไตเริ่มเสื่อม คือ ตรวจปัสสาวะแล้วพบมีโปรตีนปนออกมา หรืออาจตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด หรือพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต แต่อัตราการกรองของไต หรือค่าการทำงานของไต (GFR) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 90 มิลลิลิตรขึ้นไป ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร
โรคไตระยะที่ 2 : ไตถูกทำลายมากขึ้น ค่าการทำงานของไต (GFR)เริ่มลดลงคืออยู่ในช่วง 60-89 มิลลิลิตร ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร
โรคไตระยะที่ 3 : ค่าการทำงานของไต ลดลงปานกลาง อยู่ในช่วง 30-59 มิลลิลิตร
โรคไตระยะที่ 4 : ค่าการทำงานของไต ลดลงอย่างรุนแรง อยู่ในช่วง 15-29 มิลลิลิตร
โรคไตระยะที่ 5 หรือระยะสุดท้าย : มีภาวะไตวาย ค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15 มิลลิลิตร
แนวทางการรักษา
ความน่ากลัวของโรคไตที่ทุกคนรู้กันดีก็คือ มักจะเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด (ยกเว้นโรคไตบางชนิด เช่น เป็นนิ่ว) อย่างไรก็ตาม ถ้าหากโรคไตที่เป็นนั้นอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว แพทย์ก็สามารถรักษาให้ได้ แต่ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องทานยาไปตลอดชีวิต และมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในการรักษาโรคไตนั้น หลัก ๆ ก็คือ
1. รักษาที่สาเหตุของโรคไต
เช่น หากเป็นนิ่วในไตก็ต้องกำจัดนิ่วในหมดไป หรือถ้าเป็นโรคไตที่เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แพทย์ก็จะช่วยรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่เป็นต้นเหตุให้ด้วยการให้ยา ซึ่งหากรักษาโรคเหล่านี้หาย ก็สามารถหายป่วยจากโรคไตได้เช่นกัน แต่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีด้วยการดูแลอาหารการกิน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
2. รักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต
ผู้ป่วยหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคไต ไตก็เสื่อมลงไปมากแล้ว ดังนั้น แพทย์จะต้องช่วยชะลอการเสื่อมของไต เพื่อไม่ให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ทำงานหนักเกินไปจนเสื่อมเร็วขึ้น โดยการชะลอการเสื่อมของไตนั้นสามารถทำได้เช่น การให้ยา การควบคุมความดันโลหิต การควบคุมอาหาร ฯลฯ
3. การล้างไตทางหน้าท้อง
ในผู้ป่วยที่เป็นไตวายมากขึ้นจนเข้าระยะสุดท้าย ไตจะไม่สามารถฟื้นตัวมาทำงานได้อีกแล้ว เท่ากับว่าเลือดของเราจะเต็มไปด้วยของเสีย เมื่อเป็นแบบนี้ แพทย์จำเป็นต้องให้ล้างไต ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอาไตออกมาล้าง แต่คือการทำความสะอาดเลือดให้ไม่มีของเสีย ด้วยการใส่ท่อพลาสติกเข้าไปที่ท้อง แล้วใส่น้ำตามเข้าไป เพื่อให้ของเสียในเลือดซึมออกมาในน้ำ จากนั้นจึงนำน้ำเสียนั่นทิ้งไป นี่คือการล้างไตนั่นเอง
ได้ฟังเช่นนี้หลายคนอาจเข้าใจว่าการล้างไตยุ่งยากน่าดู แต่จริง ๆ แล้ว การล้างไตนั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือทำให้เจ็บปวดมากมาย โดยแพทย์จะผ่าตัดแผลเล็ก ๆ ทางช่องท้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แค่ใช้ยาชาเท่านั้น จากนั้นก็จะนำท่อพลาสติกสอดเข้าไปในท้อง อย่างไรก็ตาม การล้างไตจะต้องทำทุกวันไปตลอดชีวิต นี่จึงเป็นความยุ่งยากอีกประการหนึ่งที่คนไข้บางคนไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ทุกวัน ดังนั้น จึงมีวิธีการสมัยใหม่ที่ช่วยให้คนไข้สามารถฟอกไตด้วยตัวเองได้
วิธีการที่ว่านี้ คนไข้จะนำถุงน้ำยาต่อเข้ากับถุงพลาสติกที่พับได้ แล้วปล่อยน้ำเข้าไปในท้องจนหมด จากนั้นถุงพลาสติกก็จะแฟบลง สามารถพับเก็บไว้กับตัวได้ คนไข้จะต้องปล่อยน้ำยาทิ้งไว้ในช่องท้องประมาณ 6 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาก็ต้องปล่อยน้ำยาออกมา โดยนำถุงน้ำยาวางไว้ต่ำกว่าช่องท้อง เพื่อให้น้ำยาไหลออก พอไหลออกจนหมดแล้วก็ปลดถุงนั้นทิ้งไป เอาถุงใหม่มาต่อและก็ใส่น้ำยาเข้าไป ต้องทำอย่างนี้วันละ 4 ครั้ง เพื่อล้างไตให้สะอาด แต่ก่อนจะทำด้วยตัวเองได้นั้น แพทย์พยาบาลจะต้องฝึกฝนคนไข้ให้คล่องเสียก่อน และที่สำคัญคือต้องใช้ความระมัดระวังและรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอันเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำทุกวันวันละ 4 ครั้ง สัปดาห์ละ 7 วันตลอดไปถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ทั่วไปตามปกติ ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะไตจะขับของเสียอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ฟอกเลือดด้วยไตเทียม
4. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยขจัดของเสียออกจากเลือด เนื่องจากไตของผู้ป่วยเสื่อมสภาพมากจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว โดยวิธีนี้จะต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น ต่างจากการล้างไตด้วยน้ำยาที่คนไข้สามารถทำได้เองที่บ้าน แต่ความถี่ของการล้างจะแตกต่างกัน โดยการล้างไตด้วยน้ำยานั้นจะต้องทำทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งอาจทำให้คนไข้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวกนัก
ส่วนการฟอกเลือดด้วยไตเทียมนี้ จะทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ต้องมาพบแพทย์ทุกครั้ง โดยแต่ละครั้งใช้เวลาฟอก 2-5 ชั่วโมง ด้วยการใช้เข็มเจาะเข้าที่หลอดเลือด เพื่อให้เลือดออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามายังไตเทียมที่จะช่วยกรองของเสียให้ เมื่อกรองเสร็จแล้ว เลือดจะไหลกลับเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง
5. การผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือปลูกถ่ายไต
แพทย์จะใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว ทำให้ไตไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องปลูกถ่ายไตใหม่ ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และภายหลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดเพื่อป้องกันการต่อต้านไตใหม่ของร่างกาย
สำหรับการปลูกถ่ายไต จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่ผู้บริจาคไตเสียชีวิต ซึ่งจะทั้งผู้บริจาคและผู้รับต้องมีหมู่เลือดเดียวกัน
2. ชนิดที่ผู้บริจาคไตยังมีชีวิตอยู่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ผู้บริจาคมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ซึ่งจะต้องมีความเหมือนกันของเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาค และผู้รับไตอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
- ผู้บริจาคมีความสัมพันธ์เป็นสามี-ภรรยา ซึ่งต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่เริ่มทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางหน้าท้อง ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องมีหลักฐานว่ามีลูกที่เกิดจากคู่สามี-ภรรยาจริง อายุของลูกต้องไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องพิสูจน์ความเป็นสายเลือดลูกนอกสมรส
อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคไตชนิดยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองประเภทดังกล่าว จะได้รับการตรวจร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดว่าปกติโดยสมบูรณ์ เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไตหรือไม่ แต่ถ้าผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายที่ไม่สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อีก แต่สภาพร่างกาย การทำงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งระบบไตอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติ และญาติของผู้บริจาคต้องยินยอมด้วยความสมัครใจ
อาหารสำหรับโรคไต
ป่วยโรคไต ทานอาหารแบบไหนดี ?
เมื่อเป็นโรคไตแล้ว เวลาจะหยิบอะไรทานก็คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าอาหารเหล่านั้นจะยิ่งไปทำให้ไตทำงานหนักขึ้นหรือไม่ หรืออาหารอะไรที่ควรทานให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ไตแข็งแรงขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการป่วยที่เป็นนั่นเอง
- หากป่วยเป็นโรคไตที่มีการรั่วของไข่ขาวออกมาทางปัสสาวะมาก ๆ แสดงว่ามีระดับไข่ขาวในเลือดต่ำ ต้องรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อชดเชยไข่ขาวที่สูญเสียไปทางปัสสาวะ
- หากเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะหลัง มีสารพิษคั่งในร่างกายมาก ๆ แบบนี้ไม่ควรทานโปรตีนมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้มีของเสียคั่งค้างมากขึ้น ควรเลือกทานเนื้อปลาที่ย่อยง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ถ้าใครยังอยากทานเนื้อหมู เนื้อไก่ ก็ยังทานได้ แต่ต้องลดปริมาณลง
- หากเป็นโรคไตวายเรื้อรังที่มีปัสสาวะน้อย ควรจำกัดอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน ผลไม้ เลือกทานแป้ง น้ำตาล ได้ ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตที่เป็นโรคเบาหวานด้วย
- หากเป็นโรคไตวายพิการระยะแรก ๆ ที่ยังไม่มีความดันโลหิตสูง และยังไม่มีอาการบวม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่จำเป็นต้องลดการดื่มน้ำ หรือจำกัดเกลือโซเดียม เพราะยังเป็นระยะที่มีปริมาณปัสสาวะเท่าเทียมกับคนปกติ
- หากเป็นโรคไตวายพิการระยะหลัง ๆ เท่ากับว่าไตเสื่อมมากขึ้นแล้วจนไม่สามารถขับน้ำและเกลือโซเดียมได้เท่าคนปกติ คนกลุ่มนี้จะต้องจำกัดการดื่มน้ำและเกลือโซเดียม เพราะผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะน้อย มีภาวะบวม ความดันโลหิตสูง