โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะเลือดจาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ตรวจความเข้มข้นเลือดพบว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ สาเหตุมักเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง การรักษาคือหาสาเหตุการเสียเลือดเรื้อรังและรักษาสาเหตุ ร่วมกับการให้กินยาบำรุงเลือดชนิดธาตุเหล็ก


ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบหลักของร่างกายที่นำมาสร้างเม็ดเลือดแดง ธาตุเหล็กที่พูดถึงกันนี้หมายถึงธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปแร่ธาตุซึ่งเป็นส่วนประกอบในเซลล์ต่างๆของร่างกาย ไม่ใช่เหล็กเป็นแท่ง ๆ ที่เราเห็นกันทั่ว ๆ ไป

ธาตุเหล็ก มีอยู่ในอาหารทั่วไป โดยอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เลือดที่ใช้ปรุงอาหาร เครื่องในสัตว์ (ตับและม้าม) เนื้อสัตว์ ไข่แดง หอย (หอยกาบ หอยนางรม หอยแมลงภู่) ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ อาจกินถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง เช่นแอปริคอต และลูกเกด ยีสต์หมักเบียร์ สาหร่าย กากน้ำตาล และรำข้าวสาลี


สาเหตุ ของการ ขาดธาตุเหล็ก มี 4 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
1.การเสียเลือดเรื้อรังเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น ประจำเดือนออกมากในหญิงวัยเจริญพันธุ์หรือมีแผลหรือเนื้องอกในทางเดินอาหาร ทำให้เสียเลือด ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
2.ร่างกายต้องการเหล็กมากขึ้นพบในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
3.ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กลดลงพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่กินยาซึ่งรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็ก
4.ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ พบในเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมมารดา หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้


อาการ
เริ่มแรกภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจน้อยมากจนไม่มีใครสังเกต แต่เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กและโรคโลหิตจางมากขึ้นอาการและอาการแสดงก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นได้แก่
* ความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะออกแรงแล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
* ผิวสีซีด
* ปวดหัวเวียนศีรษะหรือมึนศีรษะ
* บางรายจะมีภาวะแสบลิ้น
* เล็บบางลง หรือเล็บเปราะ
* บางรายจะมี ความอยากกินอาหารที่ผิดปกติ เช่น น้ำแข็ง ฝุ่น หรือแป้ง
* ความอยากอาหารไม่ดีโดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1.ความเข้มข้นเลือด (Hematocrit: Hct) ต่ำลงกว่าค่ามาตรฐานกล่าวคือ ในบุคคลที่อายุมากกว่า 12 ปี จะมีค่าความเข้มข้นเลือดปกติดังนี้
* ผู้ชาย มีความเข้มข้นเลือดระหว่าง 38 – 50%
* ผู้หญิง มีความเข้มข้นเลือดระหว่าง 36 – 45%
2.ระดับธาตุเหล็กสะสมในเลือด (serum ferritin) มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ


การรักษา
1.หาสาเหตุ กำจัดและรักษาสาเหตุที่สามารถรักษาได้
2.ให้ผู้ป่วยกินยาบำรุงเลือดชนิดธาตุเหล็ก
3.ในกรณีเลือดจางมาก จนมีอาการหัวใจวาย ความดันเลือดตก แพทย์จะให้เลือดแก่ผู้ป่วยเพื่อแก้ไขอาการฉุกเฉินในลำดับแรก แล้วจึงทำการหาสาเหตุต่อไป


 


ข้อมูลจาก นพ.กิตติไกร ไกรแก้ว
อายุรแพทย์โรคเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต


https://ch9airport.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%87