
“รูมาตอยด์” อาการปวดตามข้อที่ไม่ควรละเลย
ข้ออักเสบรูมาตอยด์ อีกหนึ่งโรคที่ส่งสัญญาณเตือนด้วยอาการปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาการอาจลุกลามและเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่องหากผู้ป่วยไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง แต่ในทางตรงกันข้ามหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่ข้อจะถูกทำลาย จะสามารถบรรเทาโรคและป้องกันไม่ให้เกิดความพิการในอนาคตได้ การสังเกตอาการในระยะแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะมีสัญญาณอย่างไรบ้างไปติดตามพร้อมกัน
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ส่งผลทำให้เกิดการทำลายข้อตามมา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรครูมาตอยด์ที่แน่ชัด แต่จากการศึกษามาอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาในทางคลินิกและทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่ การติดเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อในลำไส้ มีบทบาทที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคและแสดงอาการเริ่มต้นด้วยการมีข้ออักเสบ
สัญญาณหรืออาการเตือนจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
สัญญาณของอาการที่คุณสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่ากำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มี ดังนี้
* ข้ออักเสบเรื้องรัง ปวด บวม นานกว่า 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือและข้อมือ ซึ่งมักจะเป็นสองข้างเท่าๆกัน
* มีอาการข้อฝืด ตึง ขยับนิ้วลำบากหลังตื่นนอนตอนเช้า
* มีการอักเสบรุนแรงของข้อเล็กๆ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า และมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้มาจากการใช้งานข้อหนักๆ เมื่อมีการใช้งานข้อที่มีอาการอักเสบ จะมีอาการปวดข้อมากขึ้น
* อาการจะชัดเจนเมื่อไม่ได้ขยับข้อมาระยะหนึ่ง โดยจะมีอาการปวดในช่วงกลางคืนและมีอาการข้อตึงมากในตอนเช้า โดยจะปวดเป็นเวลานานแม้รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการอาจดีขึ้นแต่ยังไม่หายขาด
* อาจมีน้ำหนักตัวลดลงและมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย
* ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการปวดข้อเลย แต่อาจจะมาด้วยอาการเยื่อบุตาขาวอักเสบเรื้อรัง มีพังผืดในปอด ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้พบได้น้อยมาก ประมาณ 5-10%
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
ในปัจจุบันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้สงบได้ กล่าวคือทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดบวมข้อได้ โดยแพทย์จะให้ยาเพื่อหวังผลที่จะหยุดยั้งกระบวนการอักเสบ หยุดยั้งการทำลายข้อเพื่อที่จะให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากที่สุด
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะเน้นการรักษาโดยการใช้ยาเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
1.การให้ยาเพื่อลดอาการปวด โดยการให้ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) หรือ สเตียรอยด์ (corticosteroid) เพื่อทำให้อาการปวดทุเลาลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ลำบากมากนักในช่วงแรก
2.การรักษาเฉพาะ คือ การให้ยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease Modifying Anti-rheumatic Drugs, DMARDs) เรียกง่ายๆให้เข้าใจว่า ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือยาต้านรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกับยากดภูมิคุ้มกัน แต่ระดับการกดภูมิจะน้อยกว่ากลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง โดยจะแบ่งออกเป็น
- Conventional DMARDs เป็นยาที่ทำหน้าที่ชะลอการทำงานของเซลล์อักเสบในร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทในการกระตุ้นการสร้างสารอักเสบ แต่ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ใช้เวลาหลายเดือน
- Biologic DMARDs (ยาชีววัตถุ), Targeted Synthetic DMARDs (ยาสังเคราะห์มุ่งเป้า) คือยากลุ่มใหม่ๆที่ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้จับกับสารอักเสบที่เซลล์อักเสบสร้างขึ้นมาโดยตรง ทำให้เกิดประสิทธิภาพเร็วขึ้น เห็นผลการรักษาภายในหลักสัปดาห์ โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็จะได้ประโยชน์จากการใช้ยาในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงพอสมควรต่อตับ เม็ดเลือด และอาจจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ จึงแนะนำให้สั่งยาโดยอายุรแพทย์โรคข้อเท่านั้น
โรครูมาตอยด์ห้ามกินอะไรบ้าง
ควรหลีกเลี่ยงอาการที่มีส่วนทำให้อาการกำเริบ ได้แก่
* อาหารประเภททอด เนื่องจากมีสาร AGE เป็นสารพิษที่ส่งผลเสียต่อร่างกายสามารถกระตุ้นการเกิดโรครูมาตอยด์ได้
* อาหารที่ถูกขัดสี พบได้ในน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรต สิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยสาร AGE ด้วยเช่นกัน
* นมทุกชนิด เนื่องจากโปรตีนจะกระตุ้นอาการที่ข้อได้
* อาหารอบหรืออาหารทานเล่น เนื่องจากอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่สามารถกระตุ้นโรครูมาตอยด์ได้
* อาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรด เช่น ถั่ว หรือโปรตีนจากสัตว์ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟ
* อาหารที่มีไขมันไม่ดี (LDL) พบได้ในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก หรือในชีส ขนมเค้ก เป็นต้น
เป็นโรครูมาตอยด์ควรกินอาหารอย่างไร
* อาหารที่มีไขมันต่ำ
* ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียม
* อาหารที่มีการขัดสีน้อย เช่น ขนมปังโฮลวีท หรือข้าวกล้อง
* เน้นสารอาหารประเภทเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี เช่น ตับ ปลา ฝรั่ง เป็นต้น
* ทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 พบได้ในปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลวิมุต https://www.vimut.com/article/Rheumatoid-arthritis
โรงพยาบาลเพชรเวช https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/What-food-rheumatoid-arthritis-do-not-eat