โรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลกและในปัจจุบันผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งปากมดลูกโดยพบประมาณ 30 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย โดยสถิติของประเทศไทยพบมะเร็งเต้านม (22.8%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ (10.7%) และมะเร็งปากมดลูก (9.4%) (ข้อมูลจาก Global Cancer Statistics ปี 2020) ซึ่งกล่าวได้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้หญิงมากๆ ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับสาเหตุและอาการรวมถึงการรักษาของโรคนี้ให้มากขึ้น
มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร
เ ต้านม จะประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน เส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง เต้านมวางอยู่บนกล้ามเนื้อหน้าอกและซี่โครง มีหน้าที่ในการสร้างน้ำนม โดยเต้านมจะขยายขนาดตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นหลัก
มะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ดังนี้
-อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะเสี่ยงมากขึ้น
-มีประวัติครอบครัวสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก และพี่น้องสายเลือดเดียวกัน เป็นมะเร็งเต้านม
-ประจำเดือนเริ่มมาตั้งแต่อายุน้อย (มาก่อนอายุ 12 ปี)
-หมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55 ปีแล้วยังไม่หมดประจำเดือน)
-การกินยาฮอร์โมนวัยทองหรือใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
-เคยได้รับการฉายรังสีที่หน้าอก
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเต้านม
คลำพบก้อนในเต้านม มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเลือดจะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง มีความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านม โดยผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม หรือมีรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือเต้านมผิดรูปร่างไปจากเดิม ความผิดปกติของหัวนม เช่น เป็นแผลที่หัวนม เจ็บเต้านม (ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่เจ็บ เว้นแต่ก้อนมีขนาดโตมาก เกิดเนื้อตาย มีการอักเสบติดเชื้อ ดังนั้น การที่ไม่มีอาการเจ็บบริเวณเต้านม ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม) มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการทำแมมโมแกรม (Mammography) หรืออัลตราซาวด์(Ultrasound)
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
เบื้องต้นสามารถตรวจเต้านมด้วยตัวเองได้ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย และเมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการส่งตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่
การตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ทำในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปี โดยสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ทำในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เมื่อพบก้อนเนื้อหรือจุดผิดปกติ แพทย์ก็จะทำการเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy) ถ้าผลเป็นมะเร็งเต้านมก็จะทำการผ่าตัดรักษาต่อไป
ระยะของมะเร็งเต้านม
ระยะที่ 1: เซลล์เริ่มผิดปกติ หากมีก้อนมะเร็งจะอยู่ในเต้านมและจะมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งอาจเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมโดยที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งที่เต้านมขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง โดยอาจมีการลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของช่องอก, เกิดแผลที่ผิวหนังหรือมีการลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่าระยะที่ 2 โดย ในระยะนี้ก้อนเนื้ออาจมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร
ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง กระดูก หรือปอด เป็นต้น ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดได้หลายขนาด
แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษา ได้แก่
1. การผ่าตัด (Surgery) ซึ่งถือเป็นการรักษาหลัก ประกอบด้วย การผ่าตัดเต้านม และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งมีทั้ง
1.1 การผ่าตัดที่เต้านม
การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conservative Surgery) เป็นการรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่ โดยตัดก้อนมะเร็งและเนื้อนมออกเพียงบางส่วนร่วมกับการฉายแสงหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) ซึ่งอาจจะมีการเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย (Breast Reconstruction) โดยการใส่ซิลิโคน (Prosthesis) หรือใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง (Autologous flap)
1.2 การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
การเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด (Axillary lymph node dissection) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมในการรักษามะเร็งเต้านม จะทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้สูง เช่น แขนบวม หรือชาบริเวณรักแร้และต้นแขน ในปัจจุบันจะทำการผ่าตัดแบบนี้ในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองเท่านั้น
การนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้มาตรวจ (Sentinel lymph node biopsy) เป็นการผ่าตัดโดยนำกลุ่มต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายมาถึงก่อน (Sentinel lymph node) ออกมาตรวจ โดยจะทำการฉีดสีพิเศษที่บริเวณเต้านมเพื่อจำลองการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม จากนั้นจำทำการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ออกมาเพื่อส่งตรวจทางวิธีพยาธิวิทยาด้วยวิธีแช่แข็ง (Frozen section) โดยสามารถทราบผลในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในขณะผ่าตัด ซึ่งหากไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองเพิ่มเติม แต่หากมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ จะต้องทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้มาตรวจนี้ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดในผู้ป่วยที่ยังไม่มีเซลล์มะเร็งพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง
2. การฉายแสงหรือรังสีรักษา (Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีเข้าไปบริเวณเต้านมและหน้าอกเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับเป็นซ้ำ มักจะเป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมหรือใช้เป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองด้วย
3. การใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการให้ยาทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดการแพร่กระจาย
4. การใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) เป็นการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ต้องผ่านการส่งตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อน หากตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมนจึงจะสามารถใช้ยาประเภทนี้รักษาได้ และต้องทานยาต่อเนื่อง 5-10 ปี
5. การใช้ยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยยาจะมีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องผ่านการตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อนเช่นกัน
การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม
ผู้หญิงทุกคนควรรู้จักการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจบ่งถึงมะเร็งเต้านมได้ ควรหมั่นตรวจสุขภาพ คัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี หรือควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ทุกปี หลังจากที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง การเข้ารับการตรวจกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งหรือการตรวจยีนหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมถือเป็นอีกวิธีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งในอนาคตได้