โรคพันธุกรรม LSD ชนิด Fabry

                - โรค Fabry เป็นโรคพันธุกรรมที่มีการสะสมสารในไลโซโซมจากการขาดเอนไซม์ galactosidase บางส่วน
หรือทั้งหมด

         


                - เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางโครโมโซม X (x-linked recessive) และส่วนใหญ่พบในเพศชาย ผู้ป่วยชายโรค Fabry จะส่งผ่านยีนที่ผิดปกติไปสู่บุตรสาวทุกคน (และไม่ส่งให้บุตรชาย) ผู้หญิงที่เป็นพาหะ (ซึ่งอาจมีอาการของโรค) มีโอกาส 50% ที่จะส่งผ่านยีนที่ผิดปกติไปสู่บุตรชายหรือบุตรสาว ปัจจุบันพบการกลายพันธุ์ของยีน galactosidase มากกว่า 160 แบบ (ยีนอยู่ที่ตำแหน่ง X q 22.1)
สาเหตุ
              การขาดเอนไซม์ galactosidase นำไปสู่การสะสมของสาร glycosphingolipids (โดยเฉพาะ globotriaosylceramide) ในอวัยวะ, เซลล์หลอดเลือด ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง ปลายประสาทรับความรู้สึกผิดปกติ
ตุ่มแดงตามผิวหนัง (angiokeratoma) กระจกตา และแก้วตาขุ่น จนกระทั่งอายุ 20-40 ปี จะมีอาการทางไต หัวใจ
และระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยโรค Fabry จะมีอายุขัยเฉลี่ย 41 ปี
อาการและอาการแสดงของโรค Fabry
               แม้ว่าอาการแสดงของโรค Fabry จะแสดงในวัยเด็กหรือวัยรุ่น แต่บ่อยครั้งที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจนเป็นผู้ใหญ่ การวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรกมีความสำคัญ เพราะอวัยวะต่าง ๆ จะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นอันตรายต่อชีวิต อาการและอาการแสดงที่หลากหลายของโรคนี้เป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยโดยเร็วและแม่นยำ

  


การวินิจฉัย
                - การวินิจฉัยโรค Fabry ยืนยันโดยการตรวจพบการทำงานของเอนไซม์ galactosidase ต่ำ หรือไม่มีเลยในพลาสมา ซีรั่ม เม็ดเลือดขาว เซลล์เพาะเลี้ยง fibroblast จากผิวหนัง แม้ว่าการตรวจวัดระดับเอนไซม์จะสามารถวินิจฉัยภาวะพาหะของโรคนี้ได้เป็นส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะพาหะจะมีระดับของเอนไซม์ที่หลากหลาย การวิเคราะห์ระดับยีนหรือวิธี linkage analysis อาจช่วยในการวินิจฉัยภาวะพาหะได้
               - อุบัติการณ์ โดยประมาณของโรค Fabry คือ 1 ในผู้ชาย 40,000 ราย โดยที่อุบัติการณ์ของภาวะพาหะจะใกล้ เคียงหรือมากกว่าของผู้ป่วย
               - ผู้ชายทุกคนที่ได้รับยีนที่ผิดปกติของโรคนี้จะแสดงอาการของโรค ขณะที่ผู้หญิงที่เป็นพาหะ ซึ่งอาจมีการผลิตเอนไซม์ลดลงบางส่วน อาจไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ได้รับยีนผิดปกติเพียง 1 ยีน อาจแสดงอาการของโรค Fabry เต็มที่จากโครโมโซม X ที่ไม่ทำงาน
การรักษาโรค Fabry
               การรักษาโรค Fabry ที่ได้ผลดี จะต้องรักษาที่สาเหตุพื้นฐานของโรค ไม่ใช่รักษาเฉพาะอาการหรืออาการแสดงของโรค การให้ยา carbamazepine และ diphenylhydantoin ใช้ป้องกันรักษาอาการปวดการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจและการใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เมื่อเกิดภาวะไตวายผู้ป่วยจะได้รับการฟอกไตหรือผ่าตัดเปลี่ยนไต การรักษาเหล่านี้สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปได้ แต่ไม่ได้หยุดยั้งการดำเนินโรคในอวัยวะอื่น ๆ
การรักษาโดยการให้เอนไซม์ทดแทน (Enzyme replacement therapy, ERT)
                การรักษาโดยใช้เอนไซม์ทดแทน (enzyme replacement therapy) ซึ่งมีใช้ในบางประเทศ การยับยั้งการสร้างสารตั้งต้น และการรักษาด้วยยีน (gene therapy) ให้ความหวังในการรักษาโรค Fabry โดยแก้ไขที่สาเหตุพื้นฐานทางเมตาบอลิก ดังนั้น จึงสามารถป้องกันและหยุดยั้งการเกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาวของโรค Fabry


ข้อมูลโดย : อ.นพ. นิธิวัชร์ วัฒนวิจารณ์ สาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : http://www.lsdthailand.com/lsd/index.php/ct-menu-item-5/ct-menu-item-9