เบาหวานขึ้นตา…ปล่อยไว้นานไม่รักษาอาจตาบอดได้

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) คืออะไร 
เบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทตา (Retina) ได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการ หรือมีการมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้ และไม่ได้รับการรักษาจนมีอาการรุนแรง อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
อาการของโรค เบาหวานขึ้นตา มีลักษณะอย่างไร 
ในระยะแรกของโรคเบาหวานขึ้นตา อาจจะยังไม่พบอาการ หรือความผิดปกติในการมองเห็น แต่เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น จะพบอาการต่างๆ เช่น
* มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
* มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
* ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
* แยกแยะสีได้ยากขึ้น
* ภาพที่มองเห็นมืดเป็นแถบๆ
* สูญเสียการมองเห็น

สาเหตุของโรคเบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตา เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่ไปหล่อเลี้ยงจอตาโป่งพองเป็นหย่อมๆ จากผนังหลอดเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดและน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือด กระจายทั่วจอประสาทตา และเส้นเลือดใหญ่ที่จอตาจะเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ รวมถึงเส้นใยประสาทของจอตาและจุดภาพชัด (Macula) อาจเริ่มมีอาการบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีการอุดตันของเส้นเลือด ที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้
เมื่อหลอดเลือดที่จอประสาทตาเสียหาย ร่างกายก็จะสร้างหลอดเลือดใหม่มาทดแทน แต่หลอดเลือดที่สร้างใหม่มีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา และอาจทำให้เกิดแผลเป็นซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอกออกจากด้านหลังของดวงตา หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหินได้
มีปัจจัยมากมายที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นตา เช่น ระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน ยิ่งเป็นนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตา ทำได้…ก่อนจะสายไป!
สิ่งแรกเลยก็คือการป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมีไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักโดยให้มีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) อยู่ที่ระหว่าง 18.5-24.9 และดูแลเรื่องอาหารให้ดี นอกจากนี้ยังควร
* เลิกสูบบุหรี่ และเลิกการดื่มแอลกอฮอล์
* รับประทานยารักษาเบาหวานตามกำหนดที่แพทย์สั่ง
* ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจจะใช้เครื่องวัดน้ำตาล เป็นตัวช่วยควบคุม
* ควบคุมระดับความดัน โดยที่ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
* ควบคุมระดับไขมันในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรมีระดับไขมันในเลือดไม่เกินกว่าค่าปกติ
* สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น และควรไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น
* ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าการมองเห็นจะยังคงเป็นปกติก็ตาม
* ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้อาการต่างๆ ของเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้ ควรตรวจตาทันทีที่ตั้งครรภ์หรือใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
* ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นอย่างฉับพลัน

การรักษาเบาหวานขึ้นตา
การรักษามีจุดประสงค์เพื่อชะลอหรือยับยั้งอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ
*การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ หากมีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงอาการในระดับปานกลาง อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที แต่แพทย์จะคอยสังเกตอาการหรือความผิดปกติของดวงตาอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อยับยั้งไม่ให้อาการลุกลาม
* การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า ซึ่งเป็นระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยเลเซอร์หรือผ่าตัด ซึ่งวิธีการก็จะแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหาของจอตา
ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตา
* เลือดออกในวุ้นตา อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นจุดสีดำลอยไปมา แต่หากมีเลือดซึมออกมาในปริมาณมากอาจบังการมองเห็นทั้งหมดได้ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาจะไม่สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร อาจใช้เวลาในการกำจัดเลือดออกจากวุ้นตาประมาณ 2-3 สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ผู้ป่วยก็อาจกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน
* จอตาลอก เป็นผลมาจากแผลเป็นที่เกิดขึ้นนั้นดึงจอตาให้หลุดลอกออกจากด้านหลังของดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดดำลอยไปมาในเวลามองสิ่งต่างๆ มองเห็นแสงวาบ หรือสูญเสียการมองเห็นขั้นรุนแรง
* ต้อหิน เป็นผลมาจากกลุ่มเส้นเลือดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของดวงตา และไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง
* สูญเสียการมองเห็น ภาวะเบาหวานขึ้นตาหรือต้อหิน สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้


ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท