โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ที่พบการระบาดอยู่ในหลายประเทศแถบยุโรป และมีรายงานผู้เสียชีวิต ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ ไข้นกแก้ว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci เชื้อนี้มักก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีนกเป็นพาหะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัขและแมว ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วแล้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย
สำหรับประเทศไทย เคยมีการรายงาน ผู้ป่วยโรคไข้นกแก้ว ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 และจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย “โรคนี้แม้ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ”
อาการ ไข้นกแก้ว
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนจะสามารถติดต่อโรคไข้นกแก้วนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก คนกลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น
ผู้ติดเชื้อมักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น
* มีไข้
* หนาวสั่น
* ปวดหัว
*ปวดกล้ามเนื้อ
* ไอแห้
จะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการพบผู้เสียชีวิตสามารถพบได้น้อยมาก
การป้องกันไข้นกแก้ว
สำหรับการป้องกันโรคไข้นกแก้วสามารถทำได้ง่าย โดยประชาชนควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย
* หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ
* หลังจากสัมผัสสัตว์แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
* กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หมั่นสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ
* หากมีอาการไข้รวมถึงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422