หลักฐานทางวิชาการล่าสุดยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่อันตรายระหว่างไข้หวัดใหญ่และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ โดยผลการศึกษาในสเปน พบว่า คนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่แม้จะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วยอาการเพียงเล็กน้อย แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 2 เท่า ที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ผลของการศึกษาแบบ population based, retrospective Self Controlled Case Series study ที่นำเอาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 2,200,000 คน จากฐานข้อมูล Valencia Health System Integrated Database (VID) ในสเปน ช่วงปี ค.ศ.2011-2018 มาวิเคราะห์ โดยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เหล่านี้มีทั้งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่โดยแพทย์ในหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่แม้จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย มีความเสี่ยงของการเกิด acute cardiovascular events (ACVEs) ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction หรือ acute MI) หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (acute ischemic stroke) มากกว่า 2 เท่า ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยมี incidence rate ratios (IRR) ของ ACVE อยู่ที่ 2.21 (95% CI 1.22-4.00) และที่ 2.62 (1.51-4.52) ในช่วง 1-7 วัน และในช่วง 8-14 วัน ตามลำดับ หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ขณะเดียวกันผลของการศึกษาดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดย Cintia Muñoz-Quiles (Vaccines Research Unit. Fundación para elFomento de la Investigación Sanitaria y Biomédica de la Comunitat Valenciana, FISABIO-Public Health, Valencia, Spain) และคณะ ที่รายงานไว้ใน Journal of Infectious Diseases ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2024 ยังพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ (ยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงของการเกิด ACVEs มากกว่า 4 เท่า ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยมี IRR ของ ACVE อยู่ที่ 4.4 (95% CI 2.16-8.97) และที่ 5.09 (95% CI 2.63-9.86) ในช่วง 1-7 วัน และในช่วง 8-14 วัน ตามลำดับ หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีผลจากการศึกษาของ Jeffrey Kwong (Institute for Clinical Evaluative Sciences (ICES), Toronto, Ontario. Canada) และคณะ ที่รายงานไว้ใน New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.2018 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการนอนโรงพยาบาล (hospitalization) เนื่องจาก acute MI จำนวน 364 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2008-2015 ที่สัมพันธ์กับการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ (ยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ในผู้ป่วยจำนวน 332 คน (อายุเฉลี่ย 77 ปี และ 48% เป็นผู้หญิง) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ (ยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2009-2014 พบว่า การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด acute MI ได้อย่างมีนัยสำคัญถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยมี incidence ratio ของการนอนโรงพยาบาลเนื่องจาก acute MI อยู่ที่ 6.05 (95% confidence interval [CI], 3.86 to 9.50) ในช่วง 7 วัน หลังจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาจากการศึกษาแบบ cross-sectional study โดย Eric Chow (Centers for Disease Control and Prevention, Atlanta, Georgia, USA) และคณะ ที่รายงานไว้ใน Annals of Internal Medicine ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ.2020 ซึ่งติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย (อายุเฉลี่ย 69 ปี; ตั้งแต่ 54 ปี ไปจนถึง 81 ปี) จำนวนกว่า 80,000 คน ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี ค.ศ.2010-2011 ไปจนถึงฤดูกาลระบาดประจำปี ค.ศ.2017-2018 พบว่า มี acute cardiovascular event เกิดขึ้นใน 11.7% หรือประมาณ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาล โดย acute cardiovascular event ที่มีรายงานพบได้บ่อย ได้แก่ acute heart failure (aHF) และ acute ischemic heart disease (aIHD) ขณะเดียวกัน พบว่า ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องถูกส่งตัวเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (intensive care unit หรือ I.C.U.) เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าวจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และประมาณ 7% ของผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตในระหว่างการนอนโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่รู้กันอย่างชัดเจนว่าการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอุบัติการณ์ทางด้านระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร แต่มีหลักฐานว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกัน cardiovascular events ได้ โดยผลการศึกษาแบบ systematic review and meta-analysis ของ Jacob Udell (Women's College Research Institute and Cardiovascular Division, Department of Medicine, Women's College Hospital, University of Toronto, Toronto, Ontario, Canada) และคณะ ที่รายงานไว้ใน JAMA (Journal of the American Medical Association) ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ.2013 ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาทางคลินิกแบบ randomized controlled trial (RCT) จำนวน 6 RCTs ตั้งแต่ ค.ศ.1946 จนถึง ค.ศ.2013 (5 RCTs ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว และอีก 1 RCT ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่) ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวนรวมกันประมาณ 6,700 คน (อายุเฉลี่ย 67 ปี) พบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของ major adverse cardiovascular events ที่ลดลงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ 2.9% เทียบกับ 4.7% ตามลำดับ
ล่าสุดใน ค.ศ.2023 มีผลของการศึกษาแบบ systematic review and meta-analysis ของ Fatemeh Omidi (Department of Cardiology, Imam Hossein Hospital, Shahid Beheshti University of Medical Sciences, Tehran, Iran) และคณะ ที่รายงานไว้ใน Scientific Reports ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2023 ซึ่งรวบรวมจาก RCTs หลายการศึกษาที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่รวมกันจำนวนทั้งสิ้น 9,059 คน (4,529 คน ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และอีก 4,530 คนได้รับ placebo) พบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลด heart attacks ลงได้ถึง 26% และลดการเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular death) ลงได้ถึง 33%
อ้างอิง:
- Muñoz-Quiles C, López-Lacort M, Urchueguía A, Díez-Domingo J, Orrico-Sánchez A. Risk of cardiovascular events after influenza: A population-based Self Controlled Case Series study, Spain 2011-2018. J Infect Dis. 2024 Feb 8:jiae070. doi: 10.1093/infdis/jiae070. Epub ahead of print. PMID: 38330324.
- Kwong JC, Schwartz KL, Campitelli MA, Chung H, Crowcroft NS, Karnauchow T, Katz K, Ko DT, McGeer AJ, McNally D, Richardson DC, Rosella LC, Simor A, Smieja M, Zahariadis G, Gubbay JB. Acute Myocardial Infarction after Laboratory-Confirmed Influenza Infection. N Engl J Med. 2018 Jan 25;378(4):345-353.
- Chow EJ, Rolfes MA, O'Halloran A, Anderson EJ, Bennett NM, Billing L, Chai S, Dufort E, Herlihy R, Kim S, Lynfield R, McMullen C, Monroe ML, Schaffner W, Spencer M, Talbot HK, Thomas A, Yousey-Hindes K, Reed C, Garg S. Acute Cardiovascular Events Associated With Influenza in Hospitalized Adults : A Cross-sectional Study. Ann Intern Med. 2020 Oct 20;173(8):605-613.
- Udell JA, Zawi R, Bhatt DL, Keshtkar-Jahromi M, Gaughran F, Phrommintikul A, Ciszewski A, Vakili H, Hoffman EB, Farkouh ME, Cannon CP. Association between influenza vaccination and cardiovascular outcomes in high-risk patients: a meta-analysis. JAMA. 2013 Oct 23;310(16):1711-20.
- Omidi, F., Zangiabadian, M., Shahidi Bonjar, A.H. et al. Influenza vaccination and major cardiovascular risk: a systematic review and meta-analysis of clinical trials studies. Sci Rep 13, 20235 (2023). https://doi.org/10.1038/s41598-023-47690-9