SEPSIS โรคติดเชื้อในกระแสเลือด

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis หรือ Septicemia) คือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย โดยผู้ป่วยมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน จากนั้นแบคทีเรียจึงแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดความผิดปกติแก่ร่างกาย เช่น มีการอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก และมักเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น


อาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
อาการเริ่มแรกที่จะปรากฏอย่างรวดเร็วหลังการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้แก่ มีไข้สูง รู้สึกหนาวสั่น มือและเท้าเย็น หายใจถี่ ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่รีบไปพบแพทย์ อาการจะรุนแรงขึ้น โดยจะเริ่มมีจุดเลือดออกแดงๆ หรือรอยฟกช้ำขึ้นที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะรู้สึกมึนงง สับสน และค่อยๆ รู้สึกตัวน้อยลง จนถึงขั้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ช็อกและเสียชีวิตได้


สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด
การติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นต้นเหตุ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แบคทีเรียก่อโรคเข้าสู่ร่างกายและแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ได้แก่ มีการติดเชื้อที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายอยู่แล้ว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา แบคทีเรียอาจเพิ่มจำนวนและลุกลามไปทั่วร่างกายผ่านทางกระแสเลือดได้ ตัวอย่างโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ มีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดซึ่งทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อจากการรักษาในโรงพยาบาล กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นการติดเชื้อได้ เช่น การผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในโรงพยาบาล ซึ่งมักเป็นเชื้อดื้อยาที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยยาปฏิชีวนะธรรมดา และอาจลุกลามกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ติดเชื้อจากการใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ การใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือการสอดท่อทางหลอดเลือดดำ ซึ่งหากอุปกรณ์ดังกล่าวมีการปนเปื้อนเชื้อโรค ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลขนาดใหญ่ เช่น มีแผลเปิดจากอุบัติเหตุ หรือเป็นแผลทั่วตัวจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งดูแลทำความสะอาดแผลลำบาก ทำให้อาจเกิดการติดเชื้อผ่านผิวหนังได้ เด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเด็กและผู้สูงอายุจะมีร่างกายอ่อนแอ และหากยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้สูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้แก่ ลิ่มเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย หรือ Disseminated Intravascular Coagulation (DIC) โดยลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นจะไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง และเกิดเนื้อเยื่อตายเฉียบพลันได้ การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้อวัยวะสำคัญในร่างกายล้มเหลว เช่นไต ปอด หัวใจ และสมอง เป็นต้น การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ Acute Respiratory Distress Syndrome (ARDS) เนื่องจากปอดได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้


การรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
การให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะจึงเป็นการรักษาหลัก โดยแพทย์มักให้ยาด้วยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ชนิดของยาที่ใช้จะต่างกันไปตามชนิดของเชื้อก่อโรค และลักษณะการดื้อยาของเชื้อ ซึ่งระยะเวลาการให้ยาจะอยู่ที่ 1–2 สัปดาห์ การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจะมีอาการชีพจรเต้นเร็วและความดันโลหิตต่ำ แพทย์จึงต้องให้ยาเพิ่มความดันซึ่งมีผลทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงด้วย การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำหรือการให้น้ำเกลือ เป็นการป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ เพื่อไม่ให้หัวใจและไตล้มเหลว รวมถึงเป็นการรักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติด้วย การใช้เครื่องช่วยหายใจ จะใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตและมีปัญหาในการหายใจ โดยแพทย์จะใส่หน้ากากช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น การผ่าตัด อาจต้องทำในกรณีที่เกิดแผลติดเชื้อภายในร่างกาย และเกิดการลุกลามจนทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น เช่น การมีฝีในปอด หรือมีไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น


การป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
เบื้องต้นคุณควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ โดยการรักษาสุขอนามัยให้ดี และไม่สัมผัสกับแหล่งที่มีเชื้อก่อโรค รวมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานให้ดีขึ้น โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ก่อนที่เชื้อจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล https://www.fundrangsit.com/index.php/main/acc_det/304


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของรูป :https://unsplash.com/photos/in-the-hospital-senior-covid-19-patient-rests-lying-on-the-bed-with-oxygen-mask-recovering-man-sleeping-in-the-modern-hospital-ward-PxTuvA8dmjA