โรคไตในเด็ก พ่อแม่ต้องควรรู้และสังเกต

โรคไตคือ
โรคที่มีภาวะค่าไตเสื่อมและทำงานได้ไม่ปกติ หากรุนแรงจะส่งผลให้ไตมีสมรรถภาพการทำงานที่ลดลงจนแทบไม่สามารถทำงานได้ ไปจนถึงไตวายและเกิดการเสียชีวิตตามมา


สาเหตุการเกิดโรคไตในเด็ก
1.โรคไตในเด็กที่เป็นแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไต และระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นไปยังท่อไต บางรายมีความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม บางชนิดเกิดจากการได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างตั้งแต่อยู่ภายในครรภ์
2.โรคไตในเด็กโตหรือเกิดขึ้นภายหลัง มีสาเหตุมาจากภาวะไตอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอ หรือที่ผิวหนัง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคไตเนโฟรติกจากการสูญเสียโปรตีนปริมาณมากออกไปทางปัสสาวะ
3.ภาวะเด็กอ้วน เป็นสาเหตุสำคัญที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงนำไปสู่โรคไตในอนาคตได้อีกด้วย ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีภาวะอ้วนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ในยุคใหม่ เช่น อาหารของครอบครัวที่เป็นอาหาร ฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานจัด เค็มจัดเกินไป และพ่อแม่ที่อาศัย คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือการใช้สมาร์ทโฟนสำหรับการทำกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย


เด็กเป็นโรคไตเรือรัง ได้หรือไม่ ?
โรคโตในเด็กบางชนิดทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมา เช่น ความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด การมีแผลเป็นที่ไตจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ เด็กที่มีโรคอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ก็ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่


สิ่งที่ควรระวังสำหรับโรคไตในเด็กคือ
ภาวะอ้วนในเด็กซึ่งมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองในยุคนี้ ปัจจุบันพบว่าปัญหาโรคไตในเด็กคือการทานอาหารของเด็ก ที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพนัก เช่น การรับประทานของมัน ของเค็ม หรือของหวานจัดเกินไป ทำให้อ้วนและเกิดความดันโลหิตสูง นำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม สาเหตุนี้สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กรณีที่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กขับถ่าย จึงทำให้เกิดการหมักหมมของอุจจาระ สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ในอนาคตเช่นกัน ผู้ปกครองควรระวังหากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ในเรื่องของการดูแลความสะอาดก้นเด็กอย่างสม่ำเสมอ


การรักษาโรคไตในเด็ก แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ
กรณีของโรคไตแต่กำเนิด โดยทั่วไปมักมาจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาได้โดยการติดตามอาการ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม บางรายอาการดีขึ้นได้เมื่อเติบโตขึ้น แต่บางรายหากอาการรุนแรงมากอาจต้องได้รับการผ่าตัด


กรณีติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ รักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับเชื้อ โดยแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยตามระยะเวลาที่เพียงพอต่อการรักษา ก็สามารถทำให้หายขาดได้


กรณีของภาวะไตอักเสบ หากติดเชื้อและไม่รักษาให้ดีตั้งแต่ต้น จะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาดแต่จะเป็นการประคับประคองอาการเท่านั้น สำหรับวิธีการรักษาอาจใช้ยาในช่วงที่อาการรุนแรง
กรณีของโรคเอชแอลอีหรือโรคพุ่มพวง การรักษาจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทาน


วิธีการเฝ้าสังเกตอาการโรคไตในเด็ก
หากพบว่าเด็กมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน หรือมีสีของปัสสาวะที่ผิดปกติ สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ มีปริมาณปัสสาวะน้อย หรือมากเกินปกติ มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือน้อยครั้ง ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ หากสามารถพาไปพบแพทย์ได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี ป้องกันภาวะไตอักเสบที่นำไปสู่ไตเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โรคไตในเด็กบางชนิดอาจป้องกันได้ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ โดยที่หญิงมีครรภ์ควรมีการตรวจติดตามและดูแลโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมี หรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ในวัยที่เริ่มควบคุมการขับถ่าย ให้ฝึกเด็กขับถ่ายโดยวิธีที่เหมาะสม สอนให้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะที่ใช้ขับถ่ายอย่างเหมาะสม ให้หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก หลีกเลี่ยงขนมหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคความดันเลือดสูง และโรคเบาหวานได้ในอนาคต


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. , รพ.รามาฯ