โรคเอดส์ในเด็กและวัยรุ่น


โรคเอดส์เกิดจากอะไร แตกต่างจากการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร 
โรคเอดส์คือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยโรคเอดส์จะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีโดยเฉลี่ยเป็นเวลา 8-10 ปี ทำให้ภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง จนในที่สุดร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคภายนอก ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อน อาทิเช่น วัณโรค ปอดบวม เชื้อราขึ้นสมอง เป็นต้น


ในปัจจุบันสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างรวดเร็ว และให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีเชื้อเอชไอวีเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และป้องกันการดำเนินโรคไปสู่ระยะโรคเอดส์ได้

เชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อได้อย่างไร 
เชื้อเอชไอวีสามารถพบได้ในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด น้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อเอชไอวีผ่านทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่มีบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยหลัก ๆ มี 3 ทางดังนี้
1.การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
2.การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มของผู้ที่เสพสารเสพติด หรือฉีดยาเข้าเส้น
3.การรับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีโอกาสรับเชื้อได้ 3 ช่วง คือ ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และ กินนมแม่


เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การจับมือ การกอด การรับประทานอาหารร่วมกัน รวมทั้งไม่ติดต่อผ่านการถูกยุงกัด นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จะสามารถลดปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ จนอยู่ในระดับต่ำมาก โดยทั่วไปใช้เวลา 6 เดือน หลังเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ที่จะกดปริมาณไวรัสลงจนแทบจะตรวจไม่พบ หลังจากนั้นโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปที่คนอื่น ๆ เช่น คู่นอน หรือ ลูก จะลดลงอย่างมาก ดังที่อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ตรวจไม่พบเชื้อ = ไม่แพร่เชื้อ


เราจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี 
เด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ เพราะโดยทั่วไปใช้เวลาอีก 8-10 ปี จึงจะมีอาการแสดงของโรคเอดส์ ดังนั้น แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองเอชไอวี ในการตรวจสุขภาพประจำปี มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น เนื่องจากการตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคเอดส์ได้ นอกจากนี้หากวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิซ หนองใน ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งการตรวจทำได้อย่างรวดเร็วใช้เวลารอผลตรวจเพียง 2 ชั่วโมง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งนี้เยาวชนอายุ 13-18 ปี ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สามารถไปรับตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง


โรคเอดส์ และ การติดเชื้อเอชไอวีรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ 
ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี ยาต้านไวรัสจะช่วยฟื้นฟูภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับมาเป็นปกติ หายจากโรคเอดส์ได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรงใกล้เคียงกับคนปกติได้ อย่างไรก็ตาม การกินยาต้านไวรัส จำเป็นต้องกินสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันไปตลอดชีวิต มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านไวรัสใหม่ ๆ เช่น ยาชนิดฉีด หรือ ยาฝัง ที่ในอนาคตน่าจะมีใช้ทำให้สะดวกมากขึ้นกว่ากินยาทุกวัน เคยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนไม่มากที่รักษาหายขาด แต่เป็นการรักษาด้วยวิธีการพิเศษ เช่น ปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น ดังนั้นในปัจจุบันเป้าหมายการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ป่วยเป็นเอดส์ รวมทั้ง ไม่ถ่ายทอดเชื้อไปที่ผู้อื่น โดยเน้นการกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกวัน


ป้องกันการติดเขื้อเอชไอวีได้อย่างไร
สำหรับการป้องกันทารกที่จะติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา หากมารดาติดเชื้อเอชไอวีแล้วไม่ทราบหรือไม่ได้ป้องกัน ทารกมีโอกาสติดเชื้อจากมารดาได้ถึง ร้อยละ 25 (หรือ 1 ใน 4) แต่หากหญิงตั้งครรภ์ทราบและได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจนดีแล้ว โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อต่ำลงมาก น้อยกว่า ร้อยละ 1 (น้อยกว่า 1 ใน 100) การป้องกันทารก ทำได้โดยการตรวจคัดกรองเอชไอวี ในคู่สามี-ภรรยา ที่วางแผนจะมีลูก หรือ เมื่อเริ่มไปฝากครรภ์ หากตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ ให้รีบรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และ ให้ทารกงดนมมารดา และให้ทารกรับประทานยาต้านไวรัสอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้


สำหรับการป้องกันวัยรุ่นที่รับเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันได้โดยการให้ความรู้และสร้างทัศนคติให้วัยรุ่นตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และคิดว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวี สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณากินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ (หลักการคล้ายกับการใช้ฮอร์โมนยาคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์) แบ่งเป็น กินยาต้านไวรัสหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (เพ็พ) โดยกินยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุดภายในเวลาไม่เกิน 3 วันหลังมีความเสี่ยง โดยกินยาต้านไวรัสเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือ กินยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัส (เพร็พ) โดยรับประทานวันละ 1 เม็ดทุกวันในช่วงที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
โดยสรุป การติดเชื้อเอชไอวี ไม่เท่ากับ การป่วยเป็นโรคเอดส์ การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันการดำเนินโรคสู่ระยะเอดส์ และ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสยังช่วยให้ผู้ที่เคยเป็นเอดส์ กลับมาแข็งแรงใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นการกินยาสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ และ การที่กินยาต้านไวรัสจนเชื้อในร่างกายเหลือน้อยมาก จะช่วยลดการถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนอื่นอีกด้วย เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือ การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน ทั้งที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน ดังนั้นหากคนในสังคมเปิดใจยอมรับ และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะช่วยให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและครอบครัวของผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น


 

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย


https://www.pidst.or.th/A731.html