อหิวาตกโรค (CHOLERA) โรคติดต่ออันตราย ระบาดรวดเร็ว


อหิวาตกโรค (Cholera) ในอดีตเรียกว่า “โรคป่วงใหญ่” หรือ “โรคลงราก” หรือ " โรคห่า "ในสมัยโบราณ เป็นโรคติดต่ออันตราย ระบาดรวดเร็ว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) โดยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและอาเจียนอย่างรุนแรง จนผู้ป่วยขาดน้ำและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยมีแมลงวันเป็นพาหะ


ลักษณะโรค
เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1


การวินิจฉัยโรค
ใช้วิธีการเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield หรือ phase contrast จะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่แบบเฉพาะของเชื้อ Vibrio ซึ่งจะถูกยับยั้งด้วย antiserum จำเพาะ ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อใหม่ๆ การแยกเชื้อต้องยืนยันด้วยการทดสอบทางชีวเคมีเบื้องต้น ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบดูด้วยว่าเชื้อโรคผลิตสารพิษด้วยหรือไม่ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตโรคประจำถิ่น เชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรายแรกๆ ต้องยืนยันโดยการทดสอบทางชีวเคมีและซีโรโลยี่ที่เหมาะสมและสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นด้วย


สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ)1 ซึ่งมี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ Inaba, Ogawa และ Hikojima เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่าการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศสาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่คือ Vibrio cholerae O139 โดยที่ครั้งแรกตรวจพบสาเหตุการระบาดจากเชื้อ V. cholerae non O1 ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับ V. cholerae antiserun O2-O138 ซึ่งปรกติกลไกก่อโรคจากเชื้อกลุ่มนี้มิได้เกิดจาก Cholera toxin สายพันธุ์ใหม่ที่พบสามารถสร้าง Cholera toxin ได้เหมือน Vibrio cholerae O1 ต่างกันที่โครงสร้าง Lipopolysaccharides (LPS) ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อ อาการทางคลินิกและลักษณะทางระบาดวิทยาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงทุกประการ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รายงานว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงด้วย สำหรับเชื้อ V. cholerae ในปัจจุบันมีถึง 194 serogroups การรายงานเชื้อที่ไม่ใช่ทั้ง O1 และ O139 ให้เรียกว่าเป็น V. cholerae non O1/non O139 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ เชื้อ V. cholerae non O1/non O139 บาง serotypes อาจผลิต cholera toxin ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจการสร้างสารพิษชนิดนี้ด้วยเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่


วิธีติดต่อ
ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก


ระยะฟักตัว
ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน


ระยะติดต่อ
ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้


การป้องกัน
1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างสะอาด ทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
2.ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าส้วม
3.ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรื่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
4.ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค
6.สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคนี้ ควรรับประทานยาที่แพทย์ให้จนครบ

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค