- โรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอย่างเฉียบพลัน มีการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลังทั้งหมด
- อาการของโรค เริ่มจากอาการปวด และความผิดปกติด้านความรู้สึกต่างๆ เช่น ร้อน-เย็น เจ็บปวด ที่จะไว/มีอาการมากกว่าปกติ ขาสองข้างอ่อนแรง ชา ปัสสาวะลำบาก อุจจาระลำบาก
- ภาวะไขกระดูกสันหลังติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ เชื้อเข้าสู่กระดูกสันหลังโดยตรง ลุกลามจากการติดเชื้อบริเวณใกล้กับกระดูกสันหลัง และเชื้อที่มาตามกระแสเลือด
หลายครั้งที่เราอาจจะรู้สึกปวดหลัง มีไข้ หลังแข็งเกร็ง อาจบวม ร้อนเจ็บแบบอักเสบบริเวณแนวกระดูกสันหลังแล้วปล่อยผ่าน เพราะนึกว่าเป็นอาการทั่วๆ ไปที่เพียงกินยาแก้ไข้ก็หาย นอนพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะกระดูกสันหลัง “ติดเชื้อ” ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตและถึงแก่ความตายได้
จากกรณีการเสียชีวิตของ “น้องผิง ชญาดา” นักร้องสาว ที่ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการนวดบิดคอ หลังไปนวดที่ร้านนวดแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่า จากรายงานพบว่า วันที่ 6-11 พฤศจิกายน 2567 ผู้เสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุดรธานี ได้แอดมิทแผนกกระดูกและข้อ แพทย์ตรวจพบว่าแขนขาอ่อนแรง และตรวจเอ็มอาร์ไอเพิ่ม พบว่าไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน ตรวจโดยเจาะน้ำไขสันหลัง สรุปวินิจฉัยเป็น “โรคไขสันหลังอักเสบ” จนเกิดข้อถกเถียงในสังคมว่าเกิดจากการนวด หรือเสียชีวิตจากโรคอื่นกันแน่
แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนมาทำความรู้จักกับโรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กจนไปถึงผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่อันตรายอาจถึงตายได้
‘โรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน’ เกิดจากอะไร?
โรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอย่างเฉียบพลัน มีการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลังทั้งหมด ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง (Transverse หรือ Complete cord) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทของไขสันหลัง ซึ่งจะกล่าวถึงอาการเหล่านั้นในหัวข้อ อาการ
ทั้งนี้ ประสาทไขสันหลัง หรือ ไขสันหลัง คืออวัยวะส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS) โดยมีหน้าที่สำคัญ คือ การรับและส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปสู่เส้นประสาทและกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อ/ของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการรับสัญญาณประสาทจากเส้นประสาทกลับสู่สมอง ซึ่งรวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติด้วย โดยไขสันหลังนั้นอยู่ต่อเนื่องมาจากบริเวณก้านสมอง และต่อลงมาในช่องกระดูกสันหลังระดับคอ จนถึงระดับเอวที่ 1-2 โดยมีรากประสาทและเส้นประสาทออกจากไขสันหลัง เพื่อนำและรับสัญญาณประสาท
ลักษณะอาการสำคัญของการมีรอยโรคในประสาทไขสันหลัง คือ อาการแขน ขาอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับอาการชาเป็นระดับลงมา ตั้งแต่ตำแหน่งของรอยโรคลงมา มีปัญหาของกล้ามเนื้อหูรูดของอวัยวะต่างๆ (เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก) และระบบประสาทอัตโนมัติเสียร่วมด้วย
ความชุกของโรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
โรคดังกล่าวพบได้ไม่บ่อย ไม่มีการศึกษาความชุกที่ชัดเจนในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะโรคนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS/Multiple sclerosis) หรือ โรค NMO/Neuromyelitis optica (โรคจากการอักเสบของไขสันหลังร่วมกับของประสาทตา โดยมีสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน)
จากการทบทวนความชุกของโรคนี้จากบางการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ความชุกประ มาณ 10 คนต่อประชากร 100,000 คน
โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis), ในผู้ป่วยโรคเอส แอล อี และในประชาชนที่อยู่ในซีกโลกตะวันตกและอากาศหนาว เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
สาเหตุของโรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่มีการตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลัง โดยเกิดการอักเสบบริเวณไขสันหลังระดับอกส่วนล่างเป็นส่วนใหญ่ (ระดับอกที่ 8-10) หรือบางรายมีการทำลายเซลล์ของไขสันหลังหมดทุกระดับ (Transverse and com plete cord syndrome) และก่อให้เกิดอาการผิดปกติข้างต้น
สาเหตุที่พบบ่อยของภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ
- การติดเชื้อไวรัส
- โรคติดเชื้อมัยโคพลาสมา
- โรคทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอส แอล อี
- การได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด โรคคางทูม (แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมากๆ)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis: MS)
- โรคนิวโรมัยอิไลติส ออพติกา (Neuromyelitis optica: NMO)
เช็กอาการผิดปกติโรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
อาการผิดปกติที่พบบ่อยของภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ
- ขา 2 ข้างอ่อนแรง
- ชาขา 2 ข้างตั้งแต่ระดับรอยโรคในไขสันหลังลงมา เช่น รอยโรคระดับไขสันหลังระดับอกที่ 10 ผู้ป่วยก็จะมีอาการชาตั้งแต่ระดับสะดือลงมา เป็นต้น
- อาการปวด และความผิดปกติด้านความรู้สึกต่างๆ เช่น ร้อน-เย็น เจ็บปวด ที่จะไว/มีอาการมากกว่าปกติ ในตำแหน่งระดับเดียวกับที่เกิดอาการอ่อนแรง
- ปัสสาวะลำบาก อุจจาระลำบาก
- ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อเริ่มมีอาการอ่อนแรงของขา 2 ข้าง หรือมีความรู้สึกที่ผิดปกติที่ขา 2 ข้าง เช่น ชา ปวด หรือปัสสาวะลำบาก
ถ้ามาพบแพทย์เมื่อมีอาการปัสสาวะลำบาก ถือว่าช้าเกินไป ดังนั้นไม่ควรรอสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อ่อนแรง ว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะถ้ามาช้าเกินไป โอกาสการตอบสนองต่อการรักษาก็ยากขึ้น
ภาวะไขกระดูกสันหลังติดเชื้อว่าเชื้อแบคทีเรีย
ศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์รักษา Failed Back (Revision Spine Center) ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะกระดูกสันหลังติดเชื้อว่าเชื้อแบคทีเรีย สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ
1. เชื้อเข้าสู่กระดูกสันหลังโดยตรง เช่น ถูกแทง
2. ลุกลามจากการติดเชื้อบริเวณใกล้กับกระดูกสันหลัง
3. เชื้อที่มาตามกระแสเลือด โดยเฉพาะเมื่อคนเรามีภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง
การติดเชื้อที่กระดูกสันหลังนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบฉับพลัน ซึ่งมักจะเป็นเชื้อประเภทแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง ไข้สูง เจ็บปวดมาก หลังแข็งเกร็งและมีหนองเกิดขึ้น บางคนปวดมากจนไม่สามารถขยับตัวหรือลุกขึ้นเดินได้ อาจจะไม่พบอาการบวมแดงเหมือนการติดเชื้อที่อื่น
ส่วนการติดเชื้อกลุ่มที่ 2 จะเป็นแบบติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง มักเกิดจากเชื้อวัณโรคเป็นส่วนใหญ่ อาการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกคนไข้หรือแพทย์อาจจะไม่รู้ว่าอาการปวดหลังนั้นเกิดจากการติดเชื้อ นึกว่าเป็นการปวดหลังธรรมดาทั่วไป เพราะบางคนไม่มีไข้ร่วมด้วยเลย และแม้จะมีไข้ก็ไม่สูง บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ หลายๆวัน เพราะฉะนั้นจึงมักจะรู้เมื่อเชื้อโรคได้ลุกลามค่อนข้างมากแล้ว บางคนถึงขั้นหนองแตกออกจากกระดูกสันหลังมาที่ผิวหนังแล้ว หรืออาจพบความพิการ เช่น หลังโก่ง
ทั้งนี้ ภาวะติดเชื้อในกระดูกสันหลัง (ไม่นับรวมการติดเชื้อที่ประสาทไขสันหลังโดยตรง) มักเกิดได้ใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณหมอนรองกระดูก ตัวกระดูกสันหลัง และภายในช่องโพรงกระดูกซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทไขสันหลังและเส้นประสาท การติดเชื้อที่ช่องโพรงกระดูกมีความรุนแรงมากที่สุด อาจเป็นอันตรายมากจนถึงกับเป็นอัมพาตได้ภายหลัง 48-72 ชั่วโมง ถ้ารักษาช้าอาจไม่หายขาด เกิดเป็นอัมพาตขึ้น บางรายอาจเสียชีวิตได้ และต้องใช้ระยะเวลาในการรักษารวมทั้งการฟื้นตัวเป็นเวลายาวนาน
ยังโชคดีที่การติดเชื้อที่ตัวกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกการติดเชื้อไม่รุนแรงจากเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยจะมีหลังค่อมและคดงอในระยะการติดเชื้อท้ายๆ ของโรคถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือรักษาแต่เนิ่นๆ ขณะที่การติดเชื้อที่หมอนรองกระดูกสันหลังมักจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง มีอาการเจ็บปวดที่ทรมานอย่างมากๆ แผ่นหลังแข็งเกร็ง แอ่น มีไข้สูง ผู้ป่วยมักพบแพทย์เร็วทำให้วินิจฉัยโรคได้ เร็ว
ก่อนที่จะทำการรักษาภาวะติดเชื้อกระดูกสันหลังนั้น ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องรู้ให้ได้คือ วินิจฉัยอาการที่คนไข้แสดงออกก่อนว่าเป็นการติดเชื้อและอยู่ในขั้นไหน จากนั้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาว หาค่าการติดเชื้อด้วย CRP หาค่าการอักเสบด้วย ESR และแพทย์จะใช้การเอกเรยซ์ธรรมดาร่วมกับการทำ CT SCAN การทำ MRI เพื่อบอกถึงการติดเชื้อและความรุนแรง ส่วนการทำ bone scan จะสามารถวิเคราะห์โรคติดเชื้อได้เร็วมากภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดการติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังต้องหาวิธีการที่จะให้ได้ตัวเชื้อโรคนั้นๆ มาให้ได้ พร้อมการวิเคราะห์ sensivity test ซึ่งจะเป็นการดีที่สุดเพราะเชื้อโรคเหล่านี้นั้นจำ เป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเป็นตัวฆ่าเชื้อโดยตรงเท่านั้น เราสามารถตรวจหาเชื้อโรคโดยการเพาะเชื้อจากหนองหรือเนื้อเยื่อโดยตรง หรือการเพาะเชื้อจากกระแสเลือด (hemoculture)
สำหรับแนวทางการรักษาภาวะติดเชื้อกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อโรค แต่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นตัวหลักในการรักษาเสมอ มีดผ่าตัดไม่สามารถฆ่าตัวเชื้อโรคได้ การผ่าตัดจะเลือกผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดทุกรายเสมอไป
หลักการผ่าตัดของโรคไขกระดูกสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
1. ต้องการทราบตัวเชื้อโรคและผล sensitivity test ต่อยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
2. แก้อาการทางระบบประสาท
3. แก้ไขความพิการและเชื่อมกระดูกที่ถูกทำลายให้แข็งแรงสมบูรณ์
“เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ให้สังเกตตัวเองว่า หากปวดหลังบ่อยๆ และมีไข้เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ ตรงนี้ต้องระวังการติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง โดยเฉพาะการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งปัจจุบันยังพบได้บ่อยในบ้านเรา เพราะเป็นเชื้อที่มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายทางการหายใจ โดยเฉพาะในยามที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
อ้างอิง : โรงพยาบาลสมิติเวช , haamor
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1157183