โครงการรณรงค์ลดการหักซ้ำของกระดูกสะโพกในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease หรือ NCDs) ที่นับว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าโรคร้ายแรงอื่น ๆ เพราะแม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นหรือไม่รู้สึกเจ็บปวดได้อย่างชัดเจน ในขณะที่มวลกระดูกกำลังลดลงเรื่อย ๆ จากภาวะกระดูกพรุน แต่เรียกได้ว่าเป็น “ภัยเงียบ” ที่ก่อให้เกิดภาวะที่รุนแรงตามมาจากอาการกระดูกหักได้ เพราะความเปราะบางของกระดูก ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ ภาวะกระดูกหักซ้ำ (Capture the Fractures) ทุพพลภาพ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด กระทรวงสาธารณสุข และ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอันตรายจากภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ในปีนี้จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการรณรงค์ลดการหักซ้ำของกระดูกสะโพกในผู้สูงอายุ” เพราะนับเป็นปัญหาที่สำคัญของภาวะโรคกระดูกพรุน และเนื่องในวันกระดูกพรุนโลก ในวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทยไปสู่ยุค 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี  
            โดยปกติแล้วตั้งแต่วัยเด็กกระดูกในร่างกายจะมีการสร้างเซลล์ใหม่และสลายเซลล์กระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งอัตราการสร้างเซลล์กระดูกใหม่จะมีสูงมาก ต่อมาเมื่ออายุ  25-40  ปี  อัตราการสร้างกระดูกและสลายกระดูกจะเท่ากันอยู่ในภาวะสมดุล จนกระทั่งเมื่ออายุ 40-50 ปีขึ้นไป  อัตราการสลายกระดูกจะเริ่มมีมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก หมายความว่า มวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดจำนวนลง โครงสร้างภายในของกระดูกจะถูกทำลายจนเกิดเป็นรูพรุนลักษณะคล้ายกับฟองน้ำ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนขึ้น โดยมีสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ เช่น อาการปวดตามบริเวณเอว หลัง ข้อมือ หรือรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป หลังโก่ง ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลง เป็นต้น โดยกระดูกบริเวณที่พบว่ามีโอกาสหักได้บ่อย ได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ อัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกจะลดต่ำลงมาก  จึงทำให้เกิดภาวะสลายเซลล์กระดูกมีมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก
           จากระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการพัฒนามากขึ้นกว่าในอดีต  ทำให้อัตราเฉลี่ยของอายุของคนไทยจะยืนยาวมากขึ้น  มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2593 คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยจากปัจจุบัน 74 ปี เป็น  84 ปี 1 ใน 5 ของผู้หญิงช่วงอายุ 40-80 ปี จะมีภาวะของโรคกระดูกพรุน มีความชุกของโรคกระดูกพรุนที่บริเวณกระดูกต้นขาและกระดูกบั้นเอว ในผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ถึงร้อยละ 13.6 และมีอุบัติการณ์ของภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวนเฉลี่ย 368 คนใน 1 แสนคนต่อปี ผู้ชายมีจำนวนเฉลี่ย 136 คน    ใน 1 แสนคนต่อปี โดยมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตหลังจากกระดูกสะโพกหักร้อยละ 2.1 ของผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาในโรงพยาบาล และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในช่วง 1 ปีแรก นอกจากนี้ ยังมีจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่ไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการบริโภคแคลเซียม การได้รับวิตามินดี หรือการออกกำลังกายที่เพียงพอ รวมถึงการไม่ได้รับยาในกลุ่มที่ช่วยลดการทำลายกระดูก (Antiresorptive agents)

           รายงานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้นมากในทุก ๆ ปี ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่กระดูกหัก 1 จุด อันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำเพิ่มได้อีกในบริเวณอื่น ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ทำให้มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation หรือ IFO) กำหนดให้วันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันโรคกระดูกพรุนโลก” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจปกป้องสุขภาพกระดูกและกล้ามเนื้อของตนเองให้มากขึ้น
           ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นหนึ่งในราชวิทยาลัยแพทย์/วิทยาลัยวิชาชีพของประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรม และมีสมาชิกทั่วประเทศ ร่วมกันหารือถึงความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาระบบบริการแก่ประชาชน และความร่วมมืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งในปีนี้ได้จัดตั้งโครงการรณรงค์ลดการหักซ้ำของกระดูกสะโพกในผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาการหักซ้ำของกระดูกสะโพกอันเนื่องมาจากภาวะโรคกระดูกพรุน สามารถนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตในอัตราที่สูง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะสามารถนำไปดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น”
             แนวทางการดูแลสะสมมวลกระดูกให้กระดูกแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย ด้วยการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งาดำ งาขาว ปลาตัวเล็กที่รับประทานทั้งกระดูก กุ้งแห้ง กะปิ รวมถึงผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง บร็อคโคลี่ นอกจากนี้ ยังต้องได้รับ โปรตีนอย่างเพียงพอ เพราะโปรตีนเป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน หากผู้สูงอายุที่ได้รับโปรตีนน้อยลง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อล้าอ่อนแรง มวลกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มอาจจะทำให้กระดูกหักได้ รวมถึงควรได้รับ วิตามินดี จากแสงแดดในช่วงเช้าหรือช่วงที่แดดไม่จัดเกินไป เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูกแล้ว ยังช่วยการดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง เป็นการป้องกันไม่ให้กระดูกแตกหักง่ายอีกด้วย
           โครงการรณรงค์ฯ ในครั้งนี้ นอกจากหน่วยงานแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการป้องกัน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน