ภูมิแพ้:สำรวจความเชื่อและแนวทางการรักษา

MedicalNewsToday, Agencies

โรคภูมิแพ้เป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากรทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยโรคนี้ได้เพิ่มมากขึ้นในระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการป้องกันและการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ ความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและได้รับถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นกำแพงขวางกั้นความพยายามในการจัดการกับโรคภูมิแพ้
          โรคภูมิแพ้เกิดจากภาวะภูมิไวเกินทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติหรือมากเกินไปของภูมิคุ้มกันในร่างกายเมื่อถูกกระตุ้นจากสารบางอย่าง เช่น อาหาร ละอองเกสร ไรฝุ่น เป็นต้น อาการแพ้อาจเกิดขึ้นกับระบบใดระบบหนึ่งของร่างกายหรือหลาย ๆ ระบบ โดยอาการที่มักพบบ่อย ได้แก่ อาการคันตา หายใจมีเสียงหวีด จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือทำให้เกิดโรคหืด อาการไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย หอบ เป็นต้น ความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงมาก ในหลาย ๆ คนการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ทำให้รู้สึกเพียงถูกรบกวนรำคาญ แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
          โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยแบ่งออกตามระบบร่างกายได้ ดังนี้ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้ทางตา โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (anaphylaxis)
          ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ประชากรทั่วโลกประมาณร้อยละ 20 มีภาวะของโรคภูมิแพ้ ขณะที่ Dr. Omid Mehdizadeh แพทย์ด้านโสตศอนาสิกวิทยาที่ Health Center in Santa Monica แห่ง Providence Saint John ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โรคภูมิแพ้มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของโรคภูมิแพ้จากสภาพแวดล้อม (environmental allergies) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ความเชื่อกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้
          นอกจากโรคภูมิแพ้จะเป็นโรคที่ประชากรทั่วโลกเป็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีเรื่องของความเชื่อความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ซึ่งได้มีการพูดหรือถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา และอาจมีผลกระทบต่อการป้องกันและการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ได้ ลองมาตรวจสอบประเด็นเหล่านี้กัน

โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเท่านั้น
          เรื่องที่เชื่อกันมานานและยังมีการพูดต่อ ๆ กันมา คือ เมื่อเราเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราจะไม่เป็นโรคภูมิแพ้อีกต่อไป ประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง มีงานวิจัยที่ศึกษาความชุกของโรคภูมิแพ้อาหารในผู้ใหญ่ 40,443 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในขณะที่ทำการสำรวจ ร้อยละ 10.8 ของผู้เข้าร่วมการศึกษามีอาการโรคภูมิแพ้อาหาร ผู้เขียนรายงานพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ที่เป็นโรคแพ้อาหาร มีอาการแพ้อาหารอย่างน้อยที่สุด 1 อาการเกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ว (Ruchi S. Gupta et al. Prevalence and Severity of Food Allergies Among US Adults, JAMA Netw Open. 2019 Jan; 2(1))


ไม่มีวิธีรักษาโรคภูมิแพ้
           โดยทั่วไปมักจะเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ คือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสัตว์บางชนิด และไม่มีวิธีรักษาให้บรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้
          อย่างไรก็ตาม มียาบางชนิดสามารถลดอาการแพ้ได้อย่างมีประสิทธิผล ตัวอย่างเช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูกหรือยาหดหลอดเลือด (decongestants) สามารถบรรเทาอาการภูมิแพ้อักเสบของจมูกได้ ในขณะที่ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามิน (antihistamines) และยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับภูมิแพ้ (allergy immunotherapy) ยังสามารถช่วยลดอาการของโรคภูมิแพ้ได้ด้วย โดย American College of Allergy, Asthma, and Immunology รายงานว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัดจะให้สารก่อภูมิคุ้มกันกับผู้ที่มีอาการแพ้ในขนาดเพิ่มขึ้นทีละน้อย การเพิ่มขึ้นของสารก่อภูมิแพ้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความไวต่อสารนั้นน้อยลง โดยอาจส่งผลให้มีการผลิตแอนติบอดีทำหน้าที่ยับยั้ง (‘blocking’ antibody) ซึ่งจะช่วยลดอาการของโรคภูมิแพ้ลง เมื่อต้องสัมผัสกับสารนั้นในอนาคต”

โรคภูมิแพ้อาหารและภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นอาการเดียวกัน
          โรคภูมิแพ้อาหาร (food allergy) หรืออาการแพ้อาหารแตกต่างจากภูมิแพ้อาหารแฝง (food intolerance) โดยโรคภูมิแพ้อาหารเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งปกติจะเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของ Immunoglobulin E (IgE) ในระหว่างเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน IgE จะจับกับตัวรับบนเซลล์บางชนิด ได้แก่ mast cell และ basophils จากนั้นเซลล์เหล่านี้จะผลิตฮิสตามีนและสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งทำให้ปรากฏอาการแพ้อย่างรวดเร็วมาก
          ภูมิแพ้อาหารแฝง คือ อาการผิดปกติที่เกิดจากภาวะที่ไม่สามารถย่อยอาหาร หลังจากรับประทนอาหารที่แพ้เข้าไป ส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้และร่างกาย โดยอาการจะไม่รุนแรงเหมือนกับการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นฉับพลัน แต่จะสร้างความรำคาญให้กับคนที่มีอาการภูมิแพ้อาหารแฝง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ส่วนมากมักมาจากการขาดเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารย่อยยาก ดูดซึมไม่ดี ส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา ภูมิแพ้อาหารแฝงไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และใช้เวลานานกว่าก่อนจะปรากฏอาการ และอาการนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนอาการแพ้อาหารอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ในบางกรณี


โรคภูมิแพ้เป็นตลอดชีวิต
          ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องที่มีการพูดกัน แม้โรคภูมิแพ้บางชนิดจะอยู่กับผู้ป่วยไปตลอดชีวิต แต่ Dr.Mehdizadeh กล่าวว่า “โรคภูมิแพ้บางชนิดอาจลดน้อยลงตามอายุ”
           โรคภูมิแพ้จะลดน้อยลงตามอายุหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ ผู้เขียนรายงานการศึกษาซึ่งได้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับอาการแพ้อาหารได้อธิบายว่า
          “แม้เด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแพ้นม ไข่ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ตาม แต่อาการแพ้ ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง และหอย มักจะเป็นตลอดชีวิต” (Susan waseman and Wade Watson, “Allergy, Asthma, and Clinical Immunology” SpringerLink, 10 Nov 2011)

ภูมิแพ้ถั่วลิสงมีอาการรุนแรงที่สุด
          แม้อาการภูมิแพ้ถั่วลิสงจะเป็นภูมิแพ้ที่พบได้ทั่วไปและก่อให้เกิดอันตรายได้ก็ตาม แต่ยังไม่มีแนวทางในการจัดลำดับความรุนแรงของภูมิแพ้ บางคนอาจมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยต่อถั่วลิสง แต่สำหรับบางคนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงได้
          แม้ว่าอาหารบางชนิด เช่น ถั่วเปลือกแข็ง หอย และไข่ จะก่ออาการภูมิแพ้ที่พบเป็นส่วนใหญ่ แต่อาหารเกือบทุกชนิดนั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้ ส่วนปฏิกิริยาภูมิแพ้จะมีความรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล


โรคหวัดกับภูมิแพ้เป็นโรคเดียวกัน
          แม้โรคหวัดกับโรคภูมิแพ้จะมีอาการบางอย่างร่วมกัน เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ทั้ง 2 เป็นโรคที่แตกต่างกัน อาการของโรคหวัดมีสาเหตุจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ในขณะที่โรคภูมิแพ้เป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้
          ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ โรคหวัดมักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่โรคภูมิแพ้ในบางกรณีอาจเป็นตลอดชีวิต

แมวและสุนัขขนสั้นไม่ก่อโรคภูมิแพ้
          สำหรับบางคน สัตว์บางสายพันธุ์อาจไม่ก่อโรคภูมิแพ้ แต่เรื่องนี้ไม่มีกฎตายตัว โรคภูมิแพ้นั้นไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยขนของสัตว์ แต่เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว (สะเก็ดผิวหนัง) น้ำลาย และปัสสาวะของสัตว์
          นอกจากนั้น American Academy of Allergy, Asthma, and Immunology (AAAAI) อธิบายว่า ขนของสัตว์เลี้ยงสามารถสะสมละอองเกสรหรือเรณู สปอร์ของรา และสารก่อภูมิแพ้อื่นที่อยู่นอกอาคารได้


สายพันธุ์ที่ไม่ทำให้มีอาการแพ้
          หลายคนเชื่อว่าสายพันธุ์ของแมวและสุนัขที่มีโอกาสเกิดอาการแพ้น้อยกว่าปกติหรือไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (Hypoallergenic breeds) จะไม่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องที่พูดและเชื่อต่อ ๆ กันมา ซึ่ง AAAAI อธิบายความจริงที่ตรงข้ามกับความคิดของประชาชนทั่วไปว่า ไม่มี ‘สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้’ ทั้งในสุนัขและแมว สะเก็ดผิวหนังที่ก่ออาการแพ้ในแมวและสุนัขไม่ได้เกิดจากความยาวของขนหรือปริมาณขนที่สัตว์สลัดออก


การสัมผัสกับสัตว์อย่างต่อเนื่องบ่อย ๆ จะลดโรคภูมิแพ้ได้
         มีทฤษฎีที่รู้จักกันทั่วไปว่า ถ้าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในสัตว์ ได้ใช้เวลากับสัตว์เหล่านั้น โรคภูมิแพ้จะค่อย ๆ ดีขึ้น ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น ในความเป็นจริงเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางคนอาจจะค่อย ๆ เกิดอาการแพ้สัตว์เลี้ยงได้เมื่อเวลาผ่านไป
          Dr. Mehdizadeh อธิบายว่า “ทันทีที่ระบบภูมิคุ้มกันมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารก่อภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยง บุคคลคน ๆ นั้นจะมีอาการแพ้อยู่ต่อไปเมื่อได้สัมผัสกับขนสัตว์หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่มีปริมาณมาก ๆ และตามแนวความคิดของภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ ‘การฉีดยาโรคภูมิแพ้’ และลดความไวต่อสารก่อภูมิแพ้จะใช้ได้ผลภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ และเมื่อได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเล็กน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น”
          ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงตามที่ผู้เขียนรายงาน คือ “การนำสัตว์เลี้ยงมาไว้ที่บ้านก่อนแต่แรก อาจลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่ต้น” หรืออีกนัยหนึ่งถ้าเรานำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านตั้งแต่เด็ก ๆ ในบ้านยังอายุน้อย เด็กอาจมีโอกาสน้อยลงที่จะเกิดโรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้เมื่อเขาอายุมากขึ้น
(Sanny K. Chan and Donald Y.M. Leung, “Dog and Cat Allergies: Current State of Diagnostic Approaches and Challenges”, Allergy Asthma Immunol Research. 2018 Mar; 10(2): 97–105.)


โรคภูมิแพ้ไม่มีอาการรุนแรง
          สำหรับหลายๆ คน โรคภูมิแพ้ทำให้รู้สึกรำคาญและไม่ค่อยสะดวกสบาย แต่ไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม ในบางคนปฏิกิริยาภูมิแพ้อาจไปถึงขั้นที่เกิดอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (anaphylaxis) อาการนี้เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงและในบางกรณีอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ในระหว่างที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง จะมีการปล่อยปริมาณฮิสตามีนในปริมาณมากสู่ร่างกายและทำให้เกิดภาวะอักเสบ
          อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ การหายใจลำบาก หายใจติดขัดและอาจมีเสียงดังหวีด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย วิตกกังวล มีการบวมของลิ้น ปาก ตา คอ มือและเท้า บางครั้งมีอาการบวมที่อวัยวะเพศ มึนงง หมดสติ
          โรคภูมิแพ้ซึ่งอาจจะคิดกันว่าเป็นเรื่องเล็ก อย่างโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาลสามารถก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ เช่น ไข้ละอองฟาง (hay fever) ที่ส่งผลรบกวนการนอนในเวลากลางคืน ทำให้ง่วงตอนกลางวัน ซึ่งมีผลกระทบต่อการตั้งสมาธิกับงานที่ทำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดงานหรืออุบัติเหตุในที่ทำงานได้
          การศึกษาในปี 2021 ได้ค้นหาผลกระทบของไข้ละอองฟางต่อ “คุณภาพชีวิตที่สัมพันธ์กับสุขภาพ” จากผู้เข้าร่วมการศึกษา 616 คน และได้ผลสรุปว่า ไข้ละอองฟางลดทอนผลิตภาพการทำงาน (productivity) มากกว่าความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 (55Belén de la Hoz Caballer et al. “Allergic rhinitis and its impact on work productivity in primary care practice and a comparison with other common diseases: The Cross-sectional study to evAluate work Productivity in allergic Rhinitis compared with other common dIseases (CAPRI) study” Am J Rhinol Allergy. 2012 Sep-Oct; 26(5): 390–394.)
         อีกการศึกษาหนึ่งจากปี 2009 ได้ศึกษาผลของโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล และได้ผลสรุปว่า ไข้ละอองฟาง “มีผลกระทบด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเรื่องเพศและอาจมีผลรบกวนการนอนหลับและความเหนื่อยล้า”(Michael S Benninger and Ryan M Benninger “The impact of allergic rhinitis on sexual activity, sleep, and fatigue”Allergy Asthma Proc. Jul-Aug 2009;30(4):358-65.)


ดอกไม้ทำให้เกิดไข้ละอองฟาง
         มีความเข้าใจกันว่า ไข้ละอองฟางหรือโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) มีสาเหตุจากละอองเกสรที่ลอยในอากาศ ความจริงแล้วดอกไม้มักจะผลิตเกสรที่มีขนาดใหญ่และหนา ซึ่งจะไม่ลอยผ่านอากาศได้ง่าย ดอกไม้จะใช้วิธีดึงดูดแมลงและให้เกสรติดไปกับตัวแมลงมากกว่าปล่อยเกสรเข้าไปในอากาศ สาเหตุหลักของไข้ละอองฟางจะเป็นเกสรที่เบากว่าซึ่งมาจากหญ้าและต้นไม้


จะลดอาการภูมิแพ้ได้อย่างไร
         ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้โดยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาอาการทางช่องจมูก ปอด และผิวหนัง การรักษาอาการของโรคภูมิแพ้มีหลายทางเลือก (ในที่นี้จะนำเสนอยารักษาเฉพาะโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย) ได้แก่

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamine)
          ยาต้านฮิสตามีนจะยับยั้งผลของฮิสตามินในร่างกาย ตัวอย่างยาชนิดรับประทาน ได้แก่ loratadine (Claritin), cetitizine (Zyrtec), fexofenadine (Allegra), levocetirizine (Xyzal) เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ เช่น อาการคัน น้ำตาไหลมาก น้ำมูกไหล จาม ลมพิษ เป็นต้น
ยาต้านฮิสตามีนยังอาจใช้ป้องกันไม่ให้อาการต่าง ๆ เกิดขึ้น ถ้าใช้ยาก่อนที่จะไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ปัจจุบันยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทานส่วนใหญ่เป็นยาที่จำหน่ายโดยทั่วไป (over the counter: OTC) ส่วนยาต้านฮิสตามีนชนิดฉีดพ่นจมูกเป็นยาควบคุมตามใบสั่งยา

ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
          ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (nasal corticosteroids หรือ steroid nasal spray) เป็นสเปย์พ่นจมูกที่ช่วยลดอาการบวมในโพรงจมูก ตัวอย่างของยาที่จำหน่ายโดยทั่วไป ได้แก่ fluticasone nasal (Flonase), triamcinolone nasal (Nasacort Allergy 24HR), budesonide nasal (Rhinocort Allergy) ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา น้ำตาไหลมาก แพทย์อาจสั่งยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอื่น ๆ ให้ผู้ป่วยได้ เช่น beclometasone (Beconase)


ยาบรรเทาอาการคัดจมูกหรือยาหดหลอดเลือด (Decongestants)
          ยาหดหลอดเลือดเป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูกระยะสั้นจากอาการคัดจมูก โดยลดอาการอักเสบในหลอดเลือดของจมูกซึ่งจะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดและบรรเทาอาการแน่นจมูกหรือจมูกอุดตัน ตัวอย่างยาชนิดรับประทานที่จำหน่ายโดยทั่วไป ได้แก่ oxymetazoline nasal (Vicks Sinex) และ phenylephrine (Sudafed PE) และยาที่ควบคุมตามใบสั่งยา เช่น ยา pseudoephedrine (Sudafed) เป็นต้น


ยาพ่นชนิด mast cell stabilizer
          ยาพ่นชนิด mast cell stabilizer เช่น cromolyn sodium (NasalCrom) ช่วยป้องกัน mast cell ในกระบวนการภูมิแพ้ไม่ให้หลั่งสารซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ ฮิสตามีน และลิวโคไตรอิน (leukotiene) ช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคภูมิแพ้เกิดขึ้น เช่น อาการจาม น้ำมูกไหล คันตา


คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน
          แพทย์อาจสั่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น prednisone สำหรับอาการโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง ยานี้จะช่วยลดการอักเสบและป้องกันปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรง และแพทย์จะติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เนื่องจากยาอาจก่อให้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical corticosteroids)
          ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก เช่น hydrocortisone ช่วยลดการอักเสบที่ผิวหนังและความระคายเคือง มีทั้งยาที่จำหน่ายทั่วไป และยาควบคุมตามใบสั่งยาชนิดที่เป็นครีม เจล และโลชั่น


เอพิเนฟรีน (Epinephrine)
          ระหว่างที่เกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (anaphylaxis) ผู้ป่วยอาจมีปัญหาทางเดินหายใจแคบและอาการบวมของคอ หลอดเลือดอาจขยายออกซึ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรุนแรง
          แพทย์จะสั่งยาฉีดที่เรียกว่าเอพิเนฟริน (อิพิเนฟริน) หรือที่รู้จักทั่วไปว่ายาอะดรีนาลีน (adrenaline) เพื่อป้องกันอาการแพ้รุนแรงไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิตในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาจรุนแรงได้
ยาเอพิเนฟรินจะทำให้การหายใจดีขึ้นและช่วยให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อส่งเลือดไปที่หัวใจและสมองอย่างต่อเนื่อง


สรุป
          โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ประชากรทั่วโลกและในประเทศไทยเป็นกันทั่วไป และมีความรุนแรงแตกต่างกัน ขณะเดียวกันในสังคมและชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ แม้ว่าเรายังไม่มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ทั้งหลายให้หายขาดได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งจะพบหนทางในการลดผลกระทบของโรคภูมิแพ้ต่อประชากรบนโลกนี้ได้