ไตทำงานพร่องอาจเพิ่มเสี่ยงต่อภาวะความจำเสื่อมในผู้สูงวัย

HealthDay News

การทำงานที่พร่องลงของไตมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคความจำเสื่อมในผู้สูงวัย จากผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Neurology
          Dr. Hong Xu, M.D., Ph.D., จาก Karolinska Institutet ในกรุงสตอกโฮล์ม และคณะผู้ร่วมงานได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการกรองของไต (glomerular filtration rate: eGFR) และความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมของผู้พักอาศัยในกรุงสตอกโฮล์ม ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 329,822 คน นอกจากนั้น ยังประเมินอัตราที่ลดลงของ eGRF ในผู้พักอาศัย 205,622 คน ที่มีการวัด eGFR ซ้ำระหว่างการสังเกตการณ์ในปีแรก และได้ตรวจวัดความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมในภายหลังด้วย
          ระหว่างการติดตามผลด้วยค่ามัธยฐาน 5 ปี ได้ตรวจพบผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม 18,983 คน (ร้อยละ 5.8 ของผู้เข้าร่วมการศึกษา) คณะผู้วิจัยพบว่า เมื่อ eGFR ลดลง อุบัติการณ์ของโรคความจำเสื่อมได้สูงขึ้นอย่างมาก จาก 6.56 เป็น 30.28 ต่อ 1,000 คน/ปี ในผู้ที่มี eGFR เท่ากับ 90 ถึง 104 mL/min/1.73 m2 และ <30mL/min/1.73 m2 ตามลำดับ
          อัตราการกรองของไตที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคความจำเสื่อมหลังจากปรับปัจจัยต่าง ๆ แล้ว (hazard ratios เท่ากับ 1.71 และ 2.62 สำหรับ eGFR ที่ 30 ถึง 59 mL/min/1.73 m2 และ <30 mL/min/1.73 m2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ eGFR ที่ 90 ถึง 104 mL/min/1.73 m2)
เมื่อเทียบกับโรคอัลไซเมอร์ สำหรับความจำเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (vascular dementia) ระดับความเสี่ยงจะมากกว่า สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมมากถึงร้อยละ 10 มาจากอัตราการกรองของไตที่น้อยกว่า 60 mL/min/1.73 m2
          “ถ้าเราสามารถป้องกันหรือชะลอการป่วยโรคความจำเสื่อมในบางกรณีได้ ด้วยการป้องกันหรือรักษาโรคไต จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญต่องานด้านสาธารณสุข” Dr. Xu กล่าว