โรคเบาหวาน 2021 : ความรุนแรงในวิกฤตโควิด-19 กับกลยุทธ์การรักษา การประชุมสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา

ADA, HealthDayNews

สมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (American Diabetes Association: ADA) ได้จัดการประชุมประจำปีแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ถึง 29 มิ.ย. 2564 มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 11,500 คนจากทั่วโลก ประกอบด้วยแพทย์ นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ และผู้สนใจในโรคเบาหวาน  การประชุมครั้งนี้ได้เน้นถึงความก้าวหน้าล่าสุดในการวิจัยโรคเบาหวานและการพัฒนายาในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เรื่องที่ได้รับการนำเสนอจะเน้นข้อแนะนำในการรักษาและความก้าวหน้าต่าง ๆ  ในเทคโนโลยีการจัดการกับโรคนี้
Liraglutide กับ Insulin ให้ประสิทธิผลสูงกว่ายาอื่นในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
              ในการศึกษาระยะยาวของโครงการ The Glycemia Reduction Approaches in Diabetes: A Comparative Effectiveness Study (GRADE) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของยาในการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2  Dr. David Nathan แห่ง Massachusetts General Hospital และ Harvard Medical School Boston และคณะผู้ร่วมงาน พบว่า insulin glargine และยา liraglutide มีประสิทธิผลสูงกว่ายา glimepiride และ sitagliptin ในการรักษาระดับ hemoglobin A1c ให้อยู่ในขอบเขตของเป้าหมาย

                การศึกษาครั้งนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก National Institutes of Health แสดงผลการค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดและใช้เวลามากที่สุด ด้วยการเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาที่ใช้กันทั่วไปในการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
                การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาวเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2  โครงการการศึกษา GRADE ครอบคลุมประชากรที่มีความหลากหลายมาก โดยครอบคลุมถึงประชากรผู้ป่วยผิวดำร้อยละ 20 และละติโนร้อยละ 18 โดยศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาลดกลูโคสในการรักษาระดับกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยให้อยู่ในขอบเขตของเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้
    GRADE ได้ดำเนินการเปรียบเทียบกลุ่มยา 4 กลุ่ม ที่มักใช้ร่วมกับยา metformin มากที่สุด และได้พิจารณาความสามารถของยาเหล่านี้ในการรักษาระดับกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยให้อยู่ในขอบเขตของเป้าหมายตามข้อแนะนำ ที่แสดงด้วยระดับ A1C (มาตรวัดค่าเฉลี่ยกลูโคสในเลือด) ต่ำกว่าร้อยละ 7
               นอกเหนือจากยา metformin ซึ่ง ADA แนะนำสำหรับการเริ่มต้นใช้รักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ยังมียาอื่นที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เพื่อช่วยลดระดับของ A1C  การเปรียบเทียบในครั้งนี้ประกอบด้วย ยาชนิดรับประทาน 2 ชนิด คือ (1) ยา sulfonylurea glimepiride กับ (2) ยา DPP-4 inhibitor sitagliptin และยาฉีด 2 ชนิด ได้แก่ (1) ยา insulin glargine กับ (2) ยา GLP-1 receptor agonist liraglutide โดยมีการตรวจภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากยารักษาเบาหวานแต่ละกลุ่มด้วย

               การศึกษาครั้งนี้ได้สรรหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มากกว่า 5,000 คน อายุเฉลี่ย 57 ปี และระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวานเฉลี่ย 4 ปี  มีการสุ่มให้ผู้ป่วยประมาณ 1,250 คน ได้รับยาแต่ละชนิด โดยดำเนินการศึกษา GRADE เป็นเวลาเฉลี่ย 5 ปี และสูงสุดมากกว่า 7 ปี
               ผลการศึกษาของ GRADE แสดงให้เห็นว่า ยา liraglutide และ insulin มีประสิทธิผลมากที่สุดจากบรรดายาทั้ง 4 กลุ่ม  ในการรักษาระดับ A1C ให้ต่ำกว่าร้อยละ 7  ยา glimepiride ให้ผลน้อยกว่า และยา sitagliptin แสดงผลน้อยที่สุด โดยมีความถี่สูงสุดในการเกิดระดับ A1C ที่มากกว่าร้อยละ 7  ยา insulin glargine มีประสิทธิผลมากที่สุดในการรักษาระดับ A1C ได้ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทุติยภูมิของการศึกษานี้  ผลการศึกษาปรากฏเหมือนกันในผู้ชายและผู้หญิง และระหว่างเชื้อชาติกับชาติพันธุ์ รวมทั้งกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน

ผลการค้นพบเพิ่มเติม ได้แก่
            •  การลดน้ำหนัก  โดยเฉลี่ย ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับยา liraglutide และ sitagliptin มีน้ำหนักลดลงมากกว่าผู้ที่ได้รับยา glimepiride ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับยา insulin glargine มีน้ำหนักคงที่ตลอดระยะเวลาของการศึกษา
            •  ผลข้างเคียงและความเสี่ยง  ยา liraglutide มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องร่วง มากกว่ายาอีก 3 กลุ่ม ยา glimepiride มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อภาวะกลูโคสในเลือดต่ำมากกว่ายาอื่น
           •  ผลดีต่อภาวะแทรกซ้อน  เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ยา liraglutide ให้ผลค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับยาอีก 3 กลุ่ม ในการลดการเกิดร่วมกันของโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนอื่นของหัวใจและหลอดเลือด

                “เป้าหมายสุดท้ายของ GRADE เพื่อช่วยแพทย์เลือกวิธีการรักษาที่ให้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เพราะการรักษาโรคเบาหวานไม่ใช่การใช้ยาขนาดเดียวให้รักษาได้กับทุกคน” Dr.David M. Nathan ผู้อำนวยการศูนย์โรคเบาหวาน Massachusetts General Hospital, ศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ Harvard Medical School, กรุงบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์  และเป็นผู้นำการศึกษาครั้งนี้ กล่าว
                “เราเชื่อว่า ผลการศึกษาดังกล่าวจะให้ประโยชน์ทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกยาที่จำเป็นต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาระดับกลูโคสในเลือดที่เหมาะสม และเรามั่นใจว่า จะสามารถใช้การค้นพบนี้กับผู้ป่วยที่มีความแตกต่างหลากหลาย”
               “การศึกษาทดลองเปรียบเทียบประสิทธิผลเช่นในโครงการ GRADE มีความสำคัญต่อการช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีที่จะบริหารและรักษาโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ชนิดที่ 2” Dr.Henry Burch นักวิทยาศาสตร์แห่ง National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases (NIDDK) เพื่อการศึกษา กล่าว
               “National Institute of Health (NIH) สนับสนุน GRADE และการศึกษาต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกันเพื่อช่วยผู้ป่วยและแพทย์ในการตัดสินใจเลือกอย่างมีข้อมูลระหว่างยาชนิดต่าง ๆ โดยอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละคนและคุณสมบัติเฉพาะของยา”
               ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า การวิเคราะห์ในอนาคตต่อผลลัพธ์จากผู้เข้าร่วมการศึกษาของ GRADE ซึ่งมีความหลากหลายจะช่วยให้การใช้ยาลดกูลโคสในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ชี้เด็กเริ่มป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 เข้า ร.พ. เพิ่มเป็น 2 เท่า ระหว่าง COVID-19 ระบาด
             ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง Dr.Daniel S. Hsia รองศาสตราจารย์แห่ง Pennington Biomedical Research Center ในแบตันรูช รัฐลุยเซียนา และคณะร่วมงาน พบว่า ผู้ป่วยเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ระหว่างการระบาดของโควิด-19 (มี.ค.- ธ.ค. 2020) และต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคในจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019
            ข้อมูลใหม่แสดงว่า อุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในผู้ป่วยเด็กรายใหม่ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระหว่างที่การระบาดของโรค COVID-19 พุ่งขึ้นสูงสุด โดยผู้ป่วยเด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.- ธ.ค. 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019
            คำสั่งให้กักตัวอยู่ที่บ้านเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ได้ทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 รุนแรงยิ่งขึ้น ได้แก่ การออกกำลังกายที่จำกัด การเพิ่มเวลาอยู่จอมากขึ้น และพฤติกรรมของการนั่งจนเคยชิน การนอนหลับไม่สนิท และรับประทานอาหารแปรรูปมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
            ความจริงแล้ว คนอเมริกันที่เป็นโรคเบาหวานมากกว่า 1 ใน 4 บอกว่า โรคระบาดขัดขวางความสามารถของตนในการได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ  แนวโน้มที่น่ากังวลอย่างการเพิ่มน้ำหนักทีละน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ในระยะยาวได้ เช่น โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติการณ์หรือความรุนแรงของโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่อุบัติใหม่ในประชากรเด็กระหว่างการระบาดของ COVID-19
            การศึกษาครั้งนี้ได้เปรียบเทียงตัวเลขและความจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลของโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในเด็กจากเดือน มี.ค.-ธ.ค. 2019 กับช่วงเดียวกันในปี 2020 ที่ Our Lady of the Lake Children's Hospital ในเบตันรูช Baton Rouge, LA.

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า
            •  ในปี 2019 อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใหม่ในโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เท่ากับร้อยละ 0.27 (ผู้ป่วย 8 คน จาก 2,964 คน ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล) เทียบกับร้อยละ 0.62 (17 คน จาก 2,729 คน) ในปี 2020
            •  เด็กที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในปี 2020 มีอาการโรคเบาหวานรุนแรงกว่า โดยมีน้ำตาลในเลือดสูง ระดับ A1C สูงกว่า (ตัวบ่งชี้น้ำตาลในเลือดในรอบ 3 เดือน) และมีการสูญเสียน้ำมากกว่า เมื่อเทียบกับเด็กที่เข้าโรงพยาบาลในปี 2020
            •  ในปี 2020 เด็กที่มีอาการรุนแรงซึ่งจำเป็นต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) มีจำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับปี 2019 เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดจากระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง (diabetic ketoacidosis 8 เทียบกับ 3 คน) และภาวะช็อกจากน้ำตาลในเลือดสูง (hyperosmolar hyperglycemic syndrome 2 เทียบกับ 0 คน)
            •  เด็ก 23 จาก 25 คน เป็นแอฟริกันอเมริกัน และ 19 คน เป็นเด็กชาย

            “แม้การศึกษาของเราตรวจสอบการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในเด็กที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งเดียว  แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเด็กแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ” รศ. นพ. Daniel S. Hsia และผู้นำการเขียนรายงานการศึกษากล่าว
             “โชคไม่ดีที่โรค COVID-19 เข้ามารบกวนการดำเนินชีวิตของเรามากกว่าที่เราจะตระหนักรู้ การศึกษาของเราได้เน้นถึงความสำคัญของการปกป้องดูแลการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับเด็ก ๆ เอาไว้  แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม”
ไม่ใช้ยาควบคุมเบาหวานมีโอกาสป่วย COVID-19 รุนแรง
              นักวิจัยพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 และไม่ใช้ยาควบคุมเบาหวานให้ดี มีการติดเชื้อรุนแรงและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าผู้ที่ควบคุมสุขภาพของตนด้วยยา
              การศึกษาครั้งใหม่ซึ่งนำโดย Dr. Sudip Bajpeyi, ผู้อำนวยการ MiNER laboratory แห่ง University of the Texas ที่ El Paso เปิดเผยว่า การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ใช้ยาควบคุมอาการเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรค COVID-19 โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มฮิสปานิกและละติน  
              คณะผู้วิจัยพบว่า ร้อยละ 40 ของคนอเมริกันที่เสียชีวิตจากโรค COVID-19 เป็นโรคเบาหวาน และ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ ทำให้โรคเบาหวานเป็นโรคร่วมที่มีความเสี่ยงสูง

               เมื่อปล่อยโรคไว้โดยไม่รักษา โรคเบาหวานจะทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น แต่เกือบ 1 ใน 5 ของคนอเมริกันที่เป็นโรคเบาหวานบอกว่า เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด พวกเขาจะต้องเลือกระหว่างการซื้อข้าวหรือซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคเบาหวานของตนเอง
               คณะทำงานสหวิทยาการของ Dr. Bajpeyi ได้ดำเนินการศึกษาแบบมองไปข้างหลัง โดย Ali Mossayebi นักศึกษาปริญญาโทของเขาเป็นผู้นำเสนอรายงานการศึกษานี้  การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลทางการแพทย์จากผู้ป่วย 369 คน ที่เข้ารักษาตัวในศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย El Paso ด้วยโรค COVID-19  มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยตามระดับ A1C เป็นกลุ่มระดับกลูโคสในเลือดปกติ (normoglycemic N: A1C < ร้อยละ 5.7), กลุ่มภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes Pre: A1c ร้อยละ 5.7 ≤ 6.5) และกลุ่มโรคเบาหวาน (diabetes mellitus DM: A1C ≥ 6.5%) และจะแบ่งกลุ่มโรคเบาหวานต่อไปตามการจัดการกับโรคเบาหวานด้วยยาโดยผู้ป่วยในเวลาที่เข้าโรงพยาบาล
               ผลการค้นพบแสดงว่า ผู้ป่วยที่ไม่ควบคุมโรคเบาหวานมีความรุนแรงของโรค COVID-19 มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณาจากการประเมินความล้มเหลวของอวัยวะที่สัมพันธ์กับภาวะพิษจากการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบเร็ว (quick sepsis-related organ failure assessment: qSOFA) และระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ควบคุมโรคเบาหวานด้วยยา ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำยังมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและพักอยู่ในโรงพยาบาลด้วยเวลาที่สั้นกว่า
              “ผลการศึกษาของเราเน้นถึงความสำคัญของการประเมิน ติดตาม และควบคุมกลูโคสในเลือดในผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะสำหรับประชากรที่เปราะบางซึ่งมีความเสี่ยงของโรคร่วมอยู่แล้ว” Dr. Bajpeyi และผู้นำการเขียนรายงานการศึกษากล่าว

ยา tirzepatide ไม่ด้อยกว่าและให้ผลดีกว่า Semaglutide ในเบาหวาน ชนิดที่ 2
              รายงานการศึกษาที่เผยแพร่ใน New England Journal of Medicine แสดงว่า ยา tirzepatide (dual glucose-dependent insulinotropic polypeptide and glucagon-like peptide-1) ไม่ด้อยกว่า (noninferior) และได้ผลดีกว่า (superior) ยา semaglutide ในการลดระดับน้ำตาลสะสม (glycated hemoglobin) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
              ในการศึกษาครั้งนี้ Dr. Juan P. Frías จาก National Research Institute ในลอสแอนเจลิส และคณะผู้ร่วมงานได้สุ่มผู้ป่วย 1,879 คน ให้ได้รับยา tirzepatide 5 mg, 10 mg หรือ 15 mg หรือยา semaglutide 1 mg ในการทดลองเฟส 3 แบบเปิด เป็นเวลา 40 สัปดาห์  ระดับ glycated hemoglobin เฉลี่ย ณ ตอนเริ่มการทดลองเท่ากับร้อยละ 8.28 และน้ำหนักตัวเฉลี่ยเท่ากับ 93.7 กิโลกรัม      
              คณะผู้วิจัยพบว่า ประมาณการค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงระดับของ glycated hemoglobin จากตอนเริ่มต้นการศึกษาเท่ากับร้อยละ −2.01, −2.24, −2.30 และ −1.86 ด้วยยา tirzepatide 5 mg, 10 mg, หรือ 15 mg และยา semaglutide ตามลำดับ  ประมาณค่าความแตกต่างเท่ากับร้อยละ −0.15, −0.39 และ −0.45 ระหว่างกลุ่มที่ใช้ยา tirzepatide 5 mg, 10 mg และ 15 mg ตามลำดับ กับกลุ่มที่ใช้ยา semaglutide
             ยา tirzepatide ทุกขนาด ไม่ด้อยกว่าและให้ผลดีกว่ายา semaglutide  พบว่า กลุ่มที่ใช้ยา tirzepatide มีน้ำหนักลดลงมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยา semaglutide (ค่าเฉลี่ยประมาณการความแตกต่างของผลการรักษาด้วยกำลัง 2 น้อยที่สุด เท่ากับ −1.9, −3.6 และ −5.5 กิโลกรัม ตามลำดับ)
             “เนื่องจากแรงผลักดันของภาวะโรคอ้วนในการระบาดของโรคเบาหวาน รวมทั้งความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเรื้อรัง ผลจากการสังเกตการณ์นี้อาจนำไปสู่การพิจารณาใช้ยา tirzepatide เพื่อลดน้ำหนัก” ผู้เขียนบทบรรณาธิการท้ายรายงานระบุ

Efpeglenatide ลดเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่พึงประสงค์
              จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไต พบว่า ความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือดลดลงมากกว่าจากการใช้ยา efpeglenatide (exendin-based glucagon-like peptide 1 receptor agonist) เมื่อเทียบกับยาหลอก
              Dr. Hertzel C. Gerstein จาก Hamilton Health Sciences ในประเทศแคนาดา และคณะผู้ร่วมงาน ได้ดำเนินการทดลองยา efpeglenatide ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่เข้าร่วมการศึกษาและมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไตในปัจจุบัน พร้อมกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่ 1 ปัจจัยขึ้นไป โดยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับการฉีดยา efpeglenatide เข้าใต้ผิวหนัง (2,717 คน) ด้วยขนาดยา 4 หรือ 6 mg หรือให้ได้รับยาหลอก (1,359 คน)
              คณะผู้วิจัยพบว่า  มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญเกิดขึ้นกับกลุ่มที่ได้รับยา efpeglenatide และยาหลอก ร้อยละ 7.0 และ 9.2 ตามลำดับ  ระหว่างการติดตามผลด้วยค่ามัธยฐานเป็นเวลา 1.81 ปี (มีเหตุการณ์เกิด 3.9 ครั้ง และ 5.3 ครั้งต่อ 100 คน-ปี ตามลำดับ;  hazard ratio เท่ากับ 0.73; ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เท่ากับ 0.58 ถึง 0.92; P < 0.001 สำหรับ noninferiority; P = 0.007 สำหรับ superiority).
              เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับไตเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่มให้รับยา efpeglenatide และยาหลอก ร้อยละ 13.0 และ 18.4 ตามลำดับ (hazard ratio เท่ากับ 0.68; ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เท่ากับ 0.57 ถึง 0.79; P < 0.001)
              “เรามีความเชื่อว่า การฉีดวัคซีนสัปดาห์ละครั้งนี้ช่วยลดปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดและการดำเนินของโรคไตได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผลในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตสูง” Dr. Gerstein กล่าว