‘โรคปากนกกระจอก’ หรือ ‘แผลที่มุมปาก’ เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ สำหรับวัยเก๋า ปัญหาช่องปากอย่าง ‘การสูญเสียฟัน’ หรือ ‘ฟันด้านบดเคี้ยวสึก’ ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ สาเหตุของโรคปากนกกระจอกในวัยเก๋ามีอะไรบ้าง? และมีวิธีป้องกันอย่างไร? ไปดูกันเลย
สาเหตุที่พบบ่อย
– ปากแห้ง เลียปากบ่อย ๆ ทำให้มีน้ำลายหมักหมมบริเวณมุมปาก เชื้อราเติบโตได้ดี
– การสูญเสียฟัน/ฟันด้านบดเคี้ยวสึกรุนแรง การสูญเสียฟันหลายซี่ (โดยเฉพาะฟันกราม) และไม่ใส่ฟันทดแทน หรือมีฟันด้านบดเคี้ยวสึกรุนแรงทั้งปาก นอกจากจะทำให้มีใบหน้าสั้นลงแล้ว ยังทำให้มุมปากตก น้ำลายสะสมบริเวณมุมปาก และเกิดโรคปากนกกระจอกได้
– เชื้อราในช่องปากหรือที่มุมปาก ทำให้เกิดการระคายเคือง/อักเสบบริเวณมุมปาก ทั้งนี้ นอกจากเชื้อราแล้ว เชื้อแบคทีเรีย หรือแม้แต่ไวรัสบางชนิด เช่น เริม ก็ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน
– การขาดวิตามินบี 2 หรือธาตุเหล็ก ทำให้ริมฝีปากแห้งแตก มุมปากซีดและแตกเป็นรอย
อาการ
– คัน แสบ เจ็บเวลาอ้าปาก
– มุมปากซีด เปื่อยยุ่ย
– มีตุ่มพองใสบริเวณมุมปาก
– มีแผลแตกเป็นร่องที่มุมปาก อาจเกิดเป็นสะเก็ดแผล
– กรณีรุนแรงอาจมีเลือดออกที่แผลเมื่อขยับหรืออ้าปาก
วิธีป้องกัน
- เช็ดน้ำลายที่มุมปากให้แห้งอยู่เสมอ
- ไม่กัดหรือเลียริมฝีปาก
- ทาลิปมันหรือปิโตรเลียมเจลลี่เมื่อรู้สึกปากแห้ง
- ดูแลช่องปากและฟันทดแทนให้สะอาด
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ถั่ว ผักใบเขียว ฯลฯ และธาตุเหล็ก เช่น ตับ เนื้อแดง ใบกะเพรา ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ
- กรณีมีอาการผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย หรือเจ็บปวดมาก ๆ แนะนำให้พบหมอฟัน