โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นภาวะที่สมองสูญเสียการทำงานบางส่วนอย่างเฉียบพลันจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือจากหลอดเลือดสมองแตก ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย อาการแสดงและความรุนแรง ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และขนาดของเนื้อสมองที่สูญเสียการทำงาน พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากการพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี
    โรคหลอดเลือดสมอง มี  2 ชนิด คือ  
    1.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
        พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของคราบไขมันหินปูนที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน หรือเกิดจากมีลิ่มเลือดจากหัวใจหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน

     2. โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือเลือดออกในสมอง พบได้ประมาณร้อยละ 30 เกิดจากภาวะต่างๆ ที่ทำให้หลอดเลือดโป่งพองหรือเปราะ เมื่อมีหลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมองหรือชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง และเลือดที่ออกไปเบียดกดเนื้อสมอง มีผลทำให้สมองบางส่วนสูญเสียการทำงานเฉียบพลันได้

ใครที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองบ้าง ?
    ทุก ๆ คน มีโอกาสเป็นโรคนี้  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง มีโอกาสสูงกว่าคนปกติทั่วไป ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น     

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
    1. สูงอายุ
    2. ความดันโลหิตสูง                                                                  
    3. โรคเบาหวาน           
    4. สูบบุหรี่                                                          
    5. ไขมันในเลือดสูง                                                           
    6. หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Atrial fibrillation (AF) หรือหัวใจขาดเลือด                                                                  
    7. ภาวะอ้วนหรือขาดการออกกำลังกาย                                                                                                     
    8. ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก                                           
    9. ญาติสายตรง (พ่อ แม่/หรือพี่น้อง) เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง


อาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง  
    อาการแสดงของโรคนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และเป็นทันทีทันใด อาการที่พบบ่อย ได้แก่
    1. ปากเบี้ยว            
    2. พูดผิดปกติ  
    3. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก    
    4. เวียนศีรษะและเดินเซ
อย่างไรก็ตาม มีอาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น
    – ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น หรือมองเห็น ครึ่งซีกของลานสายตา หรือเห็นภาพซ้อน
    – ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
    – ชาครึ่งซีก   
    – หมดสติ

วิธีการรักษา
    1.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน           
        ทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี  
        การให้ยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA) ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง   
        การใช้อุปกรณ์พิเศษ ดึงลากลิ่มเลือดออกจากสมอง (Thrombectomy)

        การให้ยากลุ่มต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, ยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น                         
    2. โรคหลอดเลือดสมองแตก
        การรักษา คือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม หรือให้ยาแก้ไขภาวะเลือดออกง่าย ในกรณีที่เลือดออกปริมาณมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อลดความเสียหายต่อสมอง และรักษาชีวิตผู้ป่วย
       ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการอ่อนแรง หรือผิดปกติหลังออกจากโรงพยาบาล ควรได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติโดยเร็วไว และป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน สามารถทำได้ดังนี้
    1. ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบต้องรีบรักษา
    2. ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยความดันโลหิตไม่ให้เกิน 140/90 มม.ปรอท.
    3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีไขมันสูง
    4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 – 40 นาทีต่อวัน, 3 -5 ครั้งต่อสัปดาห์
    5. งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
    6. ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการผิดปกติ และรับประทานยาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง และป้องกันการกลับเป็นซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดรับประทานยาเองแม้ไม่มีอาการแสดงใด ๆ

    ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็น โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ควรรอดูอาการ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด